บ้านปูกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ (Banpu Transformation) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในฐานะผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ (International Versatile Energy Provider) ที่มุ่งนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าจากความเชี่ยวชาญด้านพลังงานครบวงจรใน 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้คือ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยกระบวนการ Digital Transformation ซึ่งเราได้ทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 3 ปีผ่าน เพื่อรังสรรค์เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืนภายใต้จุดยืน “Smarter Energy for Sustainability” ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
บริษัทฯ จัดตั้งหน่วยงาน Digital Center of Excellence (DCOE) ขึ้นในปี 2561 ด้วยเป้าหมายสำคัญคือร่วมขับเคลื่อนบ้านปู ให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแนวคิดแบบดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้อย่างชาญฉลาดทั่วทั้งองค์กร ควบคู่ไปกับการทำงานรูปแบบใหม่ที่รวดเร็วและคล่องตัว “Agile Working” มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานในทุกส่วน รวมทั้งก่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ให้กับลูกค้าทั้งภาคธุรกิจ (B2B) รายย่อย (B2C) และรัฐบาล (B2G) ได้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันกระบวนการ Digital Transformation เริ่มใช้แล้วใน 4 ประเทศนำร่อง ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย จีน และอินโดนีเซีย โดยหน่วยงาน DCOE ในไทย เป็นศูนย์กลางในการวางแผนกลยุทธ์ และการปฏิบัติงาน รวมถึงการร่วมกันสร้างและถ่ายทอดแนวทางการทำงานที่ชาญฉลาดระหว่างหน่วยงาน DCOE ทั้ง 4 ประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานการดำเนินงาน และขับเคลื่อนแนวคิด Banpu Transformation อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในไทย
หน่วยงาน DCOE ในไทย
เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมให้ทุกธุรกิจของบ้านปู ในทั้ง 10 ประเทศ ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งของพนักงาน อุปกรณ์ และเครื่องจักรให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว และมีข้อผิดพลาดน้อยลง โดยมีทีมงานดิจิทัลที่มีความเชี่ยวชาญครบถ้วนทั้ง Digital Coach, Scrum Master, User Experience Team และ Developer ดังนั้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลของหน่วยงาน DCOE ในไทย จึงครอบคลุมใน 2 ส่วน คือ
1. ร่วมมือกับทุกหน่วยธุรกิจของสำนักงานใหญ่ในไทย
พัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เพื่อแก้ไขปัญหา (Pain Point) ที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด และพัฒนากระบวนการและผลลัพธ์ในการทำงานของหน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่อยู่ใน Pipeline ของการพัฒนามากกว่า 20 เคส
2. สนับสนุนหน่วยงาน DCOE ในจีน อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
พัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยส่งผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลไปแชร์ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเข้าไปมีบทบาทในทีมพัฒนา เพื่อเติมเต็มให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ
ในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลได้นำวิธีคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน (User) ได้อย่างแท้จริง รวมถึงใช้วิธีการทำงานแบบ Agile ที่ต้องมีการทดสอบแนวคิดผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีความคุ้มค่ากับต้นทุนทั้งด้านการเงิน เวลา และทรัพยากรมนุษย์อย่างสูงสุด
ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลจากประเทศไทยที่เป็นไฮไลท์
1. Artery
แอปพลิเคชันตัวช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าที่มีอยู่จำนวนมากบนระบบออนไลน์ โดยสามารถทำได้ทั้งการบันทึกโปรไฟล์ลูกค้าในฐานข้อมูล และการจัดกลุ่มลูกค้าโดยการให้คะแนนที่ระบบสามารถคำนวณได้อัตโนมัติ ซึ่งประเมินจากปัจจัยด้านสถานะทางการเงิน ความน่าเชื่อถือ และการบริหารจัดการความเสี่ยงของลูกค้า เพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณามอบเครดิตสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการอนุมัติเครดิตบนแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย และสามารถติดตามสถานะได้ทุกขั้นตอน นอกจากนี้ยังมีแดชบอร์ดที่ผู้ใช้งานสามารถดูข้อมูลแบบสรุปในภาพรวมได้อีกด้วย
• สถานที่ปฏิบัติงาน: แผนก Marketing, Sales & Logistics Marketing, Sales & Logistics ของประเทศไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และจีน
• ประโยชน์ที่ได้รับ:
– ลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ และการทำงานซ้ำซ้อน ด้วยฐานข้อมูลของลูกค้าที่เป็นระบบ
– ประหยัดเวลาในกระบวนการอนุมัติเครดิตได้ประมาณร้อยละ 20 เนื่องจากแอปพลิเคชันสามารถใช้งานได้ง่ายบนระบบออนไลน์ที่สามารถดำเนินการและตรวจสอบสถานะได้ทันที
– สามารถตัดสินใจในการอนุมัติเครดิตได้ดีขึ้น ด้วยการมีข้อมูลสำคัญที่เพียงพอในการประกอบการพิจารณา
– ลดจำนวนหนี้เสีย และหนี้ค้างชำระได้ จากการอนุมัติจำนวนเงินเครดิตให้กับลูกค้าอย่างเหมาะสม
2. Hauling Road Designer
แอปพลิเคชันสำหรับการออกแบบกระบวนการขนถ่ายถ่านหินให้มีประสิทธิภาพผ่านระบบดิจิทัลที่ใช้งานได้ง่าย และมีความยืดหยุ่น โดยสามารถใช้เก็บข้อมูลปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขนาดรถบรรทุก คุณลักษณะของสิ่งที่บรรทุก พารามิเตอร์ของเหมือง และความกว้างและลักษณะของถนน รวมถึงแสดงผลข้อมูลให้เห็นในภาพรวม สามารถนำมาใช้ในการวางแผนการขนถ่ายถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประมาณการต้นทุนได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
• สถานที่ปฏิบัติงาน: เหมืองทรูบาอินโด และเหมืองบารินโตในอินโดนีเซีย
• ประโยชน์ที่ได้รับ:
– ประเมินต้นทุนในการขนถ่ายถ่านหินได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ด้วยข้อมูลที่เพียงพอในการพิจารณา
– วางแผนการขนถ่ายถ่านหินได้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ให้เพียงพอสำหรับรองรับการทำงาน
– เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการขนถ่ายถ่านหินให้ดียิ่งขึ้น
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในอินโดนีเซีย
ในปี 2561 หน่วยงาน DCOE ในอินโดนีเซีย ได้เริ่มต้นนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในเหมืองทั้งในกระบวนการผลิต และระบบโลจิสติกต์ ควบคู่ไปกับการเพิ่มพูนทักษะดิจิทัลของพนักงาน ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นเหมืองดิจิทัล (Digital Mine) ทั้งนี้เพื่อให้การผลิตถ่านหินมีความยืดหยุ่นสอดรับกับความต้องการและราคาถ่านหินในตลาด รวมถึงสภาพอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนี้ยังคำนึงถึงเรื่องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ถูกพัฒนาขึ้นรวมทั้งสิ้น 47 เคส ตัวอย่างเช่น
1. Mine Operation Collaboration Application (MOCA)
ดิจิทัลโซลูชันที่ช่วยให้การรายงานปัญหาที่พบจากหลุมเหมืองโดยพนักงานปฏิบัติการ และการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมที่ใช้วิทยุในการสื่อสาร ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงาน และไม่สามารถตรวจสอบประวัติการบันทึกข้อมูล เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาลักษณะเดียวกันในอนาคตได้ ให้กลายเป็นการใช้ MOCA ในการรายงานข้อมูลหรือปัญหาที่ตรวจพบถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์ โดย MOCA ช่วยรวบรวมข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และกระจัดกระจายให้เป็นระบบ รวมถึงเก็บประวัติของข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในกระบวนการตัดสินใจแก้ไขปัญหา สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
• สถานที่ปฏิบัติงาน: เหมืองทรูบาอินโด อินโดมินโค และบารินโต
• ประโยชน์ที่ได้รับ:
– รายงานและรวบรวมข้อมูลที่สำคัญในกระบวนการผลิตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
– ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดได้อย่างรวดเร็ว
– เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอก
2. Monitoring Enhancement Reliability of Coal Quality (MERCY)
ดิจิทัลโซลูชันที่ช่วยรวบรวมข้อมูลการผลิตถ่านหินตั้งแต่กิจกรรมที่หลุมเหมืองไปจนถึงท่าเรือ ทำให้สามารถวางแผนการผลิตถ่านหิน และระบบโลจิสติกส์ ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และระยะเวลาการส่งมอบ โดย MERCY ถูกพัฒนาให้เป็นระบบรวบรวมข้อมูลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการทุกแห่งที่สามารถบันทึก วิเคราะห์ และกระจายข้อมูลได้แบบอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น ในการตรวจสอบปริมาณการผลิตถ่านหินสามารถทำได้จากระบบ Smart Truck Scale ซึ่งอยู่ภายใต้การทำงานของ MERCY ที่เปลี่ยนรูปแบบการตรวจสอบจากการนับจำนวนรถบรรทุก เพื่อคำนวณความจุ เป็นการชั่งน้ำหนักที่ทำให้สามารถทราบปริมาณการผลิตได้อย่างแท้จริง
• สถานที่ปฏิบัติงาน: เหมืองทรูบาอินโด อินโดมินโค และบารินโต
• ประโยชน์ที่ได้รับ:
– วางแผนและปรับเปลี่ยนแผนการผลิตถ่านหินให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันเวลา
– ลดความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลที่เกิดจากการทำงานของมนุษย์ด้วยระบบอัตโนมัติ
– ลดการใช้ทั้งทรัพยากรมนุษย์และเวลา ในการรวบรวมข้อมูล รวมถึงจัดทำและส่งต่อรายงานถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในประเทศออสเตรเลีย
ในปี 2561 หน่วยงาน DCOE ในออสเตรเลีย ได้เริ่มต้นพัฒนาและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของพนักงานและเครื่องจักรให้มีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดข้อผิดพลาดจากทั้งมนุษย์ และอุปกรณ์ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการบริหารต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปเสริมแกร่งการทำงานถึง 14 เคส ตัวอย่างเช่น
1. แพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management platform)
เป็นแพลตฟอร์มสำหรับช่วยติดตามการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่าย 4G ที่ครอบคลุมพื้นที่เหมืองบน IIoT (Industrial Internet of Things) และการวิเคราะห์บนแพลตฟอร์ม Cloud ของ ‘SwitchDin’ ซึ่งเป็น Local startup ในเมืองนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าเชิงสาธารณูปโภค เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรมจำนวนมากทั่วออสเตรเลีย โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถคาดการณ์การใช้พลังงาน และการสร้างพลังงานภายในเหมือง รวมถึงวิเคราะห์ความต้องการพลังงานในตลาดซื้อขายไฟฟ้าของออสเตรเลีย เพื่อนำมาวางแผนการบริหารจัดการพลังงานภายในเหมืองให้มีประสิทธิภาพ และสร้างคุณค่าได้สูงสุด
• สถานที่ปฏิบัติงาน: เหมืองทั้งหมดของ Centennial
• ประโยชน์ที่ได้รับ:
– ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน
– เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน ครอบคลุมถึงการใช้ไฟฟ้าจากกริด และการขายไฟฟ้ากลับคืนสู่กริด เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหมือง Airly
– สร้างการดำเนินงานที่ยั่งยืนด้วยการผลิตไฟฟ้าใช้เอง จากโครงการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน Behind the meter
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในจีน
ในปี 2563 หน่วยงาน DCOE ในจีน ได้เริ่มต้นนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของพนักงานและเครื่องจักร รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และบริหารต้นทุนให้มีความเหมาะสมในธุรกิจไฟฟ้า โดยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีด้วยกัน 4 ประเภท ได้แก่ การประมวลผลแบบดิจิทัล การวิเคราะห์ขั้นสูง ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และรูปแบบการผสมผสานเทคโนโลยี รวมทั้งสิ้น 12 เคส ตัวอย่างเช่น
1. ระบบบริหารจัดการคลังวัสดุอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Inventory Management System)
นำเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการจัดหาและจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์บนระบบออนไลน์ ซึ่งช่วยให้กระบวนการจัดซื้อ และการบริหารซัพพลายเออร์ทำได้ง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังสามารถบันทึกรายการสินค้าคงคลังได้อย่างครบถ้วน ทำให้การประเมินมูลค่าสินค้าคงคลังมีความแม่นยำ รวมถึงสามารถแสดงผลภาพพื้นที่จัดเก็บแบบเสมือนจริง ทำให้การบริหารจัดการพื้นที่ในการเก็บสินค้าคงคลังที่มีอยู่หลายแห่งทำได้อย่างสะดวก ส่งผลให้การบริหารสินค้าคงคลังเป็นไปอย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
• สถานที่ปฏิบัติงาน: โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุกแห่งในจีน
• ประโยชน์ที่ได้รับ:
– ช่วยลดต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ 10,000 หยวนต่อปี (ประมาณ 50,000 บาท)
– ลดเวลาการทำงานด้วยการมีระบบบริหารสินค้าคงคลังที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
– ลดจำนวนการสั่งซื้อซ้ำ ซึ่งสามารถช่วยควบคุมต้นทุนสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยข้อมูลสินค้าคงคลังที่มีความถูกต้องและทันเวลา
2. การอนุญาตให้ทำงานบนระบบดิจิทัล (Digital Work Permit)
แอปพลิเคชันสำหรับการอนุญาตให้ทำงานในลักษณะหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงของพนักงานปฏิบัติการและบำรุงรักรักษา เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหรืออันตราย ซึ่งถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และสามารถติดตามสถานะอนุมัติได้แบบเรียลไทม์ และมีฟีเจอร์การจดจำลายนิ้วมือและใบหน้า ที่ช่วยให้ข้อกำหนดการยื่นขออนุญาตด้วยตัวเองมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีฟีเจอร์ที่ช่วยเตือนความจำสำหรับงานที่ต้องทำ และข้อมูลมาตรฐานการทำงานอย่างปลอดภัยที่พนักงานสามารถเรียกดูได้อย่างรวดเร็ว ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน
• สถานที่ปฏิบัติงาน: โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนาน
• ประโยชน์ที่ได้รับ:
– ช่วยลดต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ 50,271 หยวนต่อปี (ประมาณ 250,000 บาท)
– ลดเวลาในการทำกระบวนการอนุญาตให้ทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเสร็จสิ้นถึงลงร้อยละ 30
– ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยและคุณภาพการดำเนินการ จากการที่พนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลและหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยในการทำงานได้ง่ายขึ้น
– สร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีแก่พนักงาน ด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนและสะดวก