ความสำคัญ
การปล่อยมลสารออกสู่บรรยากาศเป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลสารจากโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไป เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสุขภาพของคนในชุมชนใกล้เคียง นอกจากนี้ การบริหารจัดการคุณภาพอากาศเป็นอีกประเด็นสำคัญ เนื่องจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสีย
แนวทางการบริหารจัดการ
ธุรกิจเหมือง
แหล่งกำเนิดมลสารในธุรกิจเหมืองแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แหล่งกำเนิดอยู่กับที่ และแหล่งกำเนิดเคลื่อนที่ได้ โดยแหล่งกำเนิดอยู่กับที่เกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง โดยมีการป้องกันโดยการบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนแหล่งกำเนิดเคลื่อนที่ได้ประกอบด้วย 2 มลสารหลัก คือ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และฝุ่นละออง (Particulate Matter: PM) จากกิจกรรมการขนส่งและจัดเก็บถ่านหิน โดยบริษัทฯ เน้นการควบคุมที่แหล่งกำเนิดผ่านหลากหลายแนวทาง เช่น การใช้สายพานลำเลียงแทนการขนส่งด้วยรถบรรทุก การฉีดน้ำบนถนนและรอบลานกองเก็บถ่านหิน การบำรุงรักษาเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ และการจำกัดความเร็วของรถบรรทุกที่วิ่งในพื้นที่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานและชุมชนโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ
ธุรกิจไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไป
เนื่องจากมลสารส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง บริษัทฯ จึงเน้นการควบคุมมลสารที่แหล่งกำเนิดโดยใช้การควบคุมทางวิศวกรรม เช่น การใช้เตาเผาฟลูอิไดซ์เบดแบบหมุนเวียน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดแผนดำเนินงานระยะยาว 5 ปี ตั้งแต่ 2556-2561 เพื่อปรับปรุงระบบควบคุมคุณภาพอากาศของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่งในจีน ด้วยเงินลงทุนกว่า 43 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาใช้ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีการดักจับซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนจากอากาศที่ปล่อยออกจากปากปล่อง และการกำจัดฝุ่นด้วยเครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณภาพอากาศเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดตลอดเวลาและไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที ในกรณีที่ระบบควบคุมคุณภาพอากาศทำงานผิดปกติ บริษัทฯ จึงได้ติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง ทั้งที่ปากปล่องและชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยการตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุม 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ฝุ่นละออง (Total Suspended Particles: TSP) และ ปรอท (Hg)
Air Pollutants | Prevention at Source | Air Emissions Control |
---|---|---|
SO2 | • การใช้เตาเผาฟลูอิไดซ์เบดแบบหมุนเวียน • การใช้ถ่านหินที่มีปริมาณกำมะถันต่ำ |
• การใช้เทคโนโลยีการดักจับซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากก๊าซที่ปล่อยออกจากปากปล่อง (Flue Gas Desulfurization: FGD) |
NOx | • การใช้เตาเผาฟลูอิไดซ์เบดแบบหมุนเวียน • การใช้หัวเผาลดไนโตรเจนออกไซด์ |
• การใช้เทคโนโลยีการกำจัดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ด้วยวิธี Selective Non-Catalytic Reduction (SNCR) และ Selective Catalytic Reduction (SCR) |
TSP | • การใช้ถ่านหินที่มีปริมาณเถ้าต่ำ | • การกำจัดฝุ่นด้วยเครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator: ESP) |