By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
ของเสียจากการทำเหมือง

ความสำคัญ

ในการทำเหมืองจะเกิดของเสียเฉพาะ 2 ชนิด ได้แก่ ดินจากการทำเหมือง (Overburden/Waste Rock) และตะกอนดิน (Tailings) ซึ่งแม้จะเป็นของเสียไม่อันตราย แต่ในบางกรณีดินดังกล่าวอาจเป็นดินที่มีศักยภาพในการให้กรด (Potential Acid Forming material: PAF) ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำที่เป็นกรด และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นการบริหารจัดการของเสียจากการทำเหมืองที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นประเด็นที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญ

แนวทางการบริหารจัดการ
บริษัทฯ เน้นควบคุมความเสี่ยงตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินการผลิตผ่านการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น เพื่อประเมินว่าหน่วยธุรกิจใดมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับของเสียจากการทำเหมือง นอกจากนี้ยังจัดทำมาตรฐานการบริหารจัดการของเสียจากการทำเหมืองที่ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มจนกระทั่งสิ้นสุดการทำเหมือง ดังนี้

กิจกรรม ของเสียจากการทำเหมือง
การขุดถ่านหิน ดินจากการทำเหมือง
การเพิ่มคุณภาพถ่านหิน ตะกอนดิน

ดินจากการทำเหมือง
บริษัทฯ วางแผนจัดการดินจากการทำเหมืองร่วมกับแผนการทำเหมืองตั้งแต่ก่อนเริ่มกิจกรรมการผลิต โดยเริ่มจากการสำรวจสภาพทางธรณีวิทยาและศึกษาคุณสมบัติของดินเพื่อนำไปสร้างแบบจำลองและจำแนกประเภทของดินก่อนนำมาวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดหน้าดินในการทำเหมืองเท่าที่จำเป็นและถมดินกลับคืนในพื้นที่ (In-pit Backfill) ให้ได้มากที่สุด

ตะกอนดิน
บริษัทฯ จัดทำแผนการบริหารจัดการตะกอนดิน (Tailings Management Plan) โดยนำหลักการของการประเมินความเสี่ยงมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่การเลือกพื้นที่จัดเก็บตะกอนดินจนถึงการคืนพื้นที่เมื่อสิ้นสุดโครงการควบคู่ไปกับการตรวจสอบและซ่อมบำรุงพื้นที่การจัดเก็บตะกอนดินโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอกอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ในออสเตรเลียได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรฐานและแนวทางในการตรวจติดตามพื้นที่จัดเก็บตะกอนดิน (Tailings Storage Facility) ทั้งนี้ แผนการบริหารจัดการตะกอนดินจะถูกทบทวนอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแผนการทำเหมืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

การจัดการน้ำที่เป็นกรดจากการทำเหมือง
บริษัทฯ จัดทำมาตรฐานการจัดการน้ำที่เป็นกรดจากการทำเหมืองเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน โดยผนวกการบริหารจัดการน้ำที่เป็นกรดเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานผ่านการประชุมแผนทำเหมืองเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ในกรณีที่เกิดน้ำเป็นกรด น้ำดังกล่าวจะต้องได้รับการบำบัดให้มีคุณภาพผ่านมาตรฐานก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกหรือก่อนการปิดเหมือง

© 2024 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.