By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ความสำคัญและความมุ่งมั่นขององค์กร

บริษัทฯ ตระหนักดีว่าการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวแล้ว ยังอาจมีผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรอีกด้วย บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นในการดูแลพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ปฏิบัติงานให้บริษัทฯ มีสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่ถูกสุขอนามัยและมีความปลอดภัย

แนวทางการบริหารจัดการ

บริษัทฯ ประกาศนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และเป้าหมาย “3 Zeroes” เพื่อบรรลุเป้าหมาย “3 Zeroes” ที่ตั้งไว้ บริษัท ฯ ได้ดำเนินการผ่านวัฒนธรรมความปลอดภัยที่สอดคล้องตามมาตรฐาน ISO 45001 และแนวปฏิบัติของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการประเมินความสอดคล้องกับกฎหมาย และการขอการรับรองจากหน่วยงานภายนอก

นอกจากนี้ บริษัท ฯ ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นประธาน  โดยผลการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของทุกหน่วยธุรกิจ

การบริการด้านอาชีวอนามัย

บริษัทฯ มีการเฝ้าระวังโดยการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างสม่ำเสมอตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ เช่น การตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระดับเสียง ระดับความเข้มข้นสารเคมีอันตราย และความเข้มของแสงสว่างในพื้นที่ปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยการตรวจวัดนั้นได้ดำเนินการโดยสถาบันตรวจวัดที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้รับเหมาทุกคนทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สำหรับในพื้นที่ปฏิบัติงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัสปัจจัยเสี่ยงนั้น ๆ เช่น การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน การตรวจสมรรถภาพปอด ซึ่งดำเนินการโดยแพทย์ด้านอาชีวอนามัย โดยข้อมูลด้านสุขภาพของพนักงานจะถูกเก็บเป็นความลับ บริษัทฯ มีนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act : PDPA) และข้อมูลของพนักงานจะไม่ถูกนำไปใช้โดยไม่ยินยอม

การระบุอันตราย การประเมินความเสี่ยง และการรายงานและสอบสวนอุบัติการณ์

บริษัทฯ มีกระบวนการระบุอันตรายและประเมินความเสี่ยงที่ครอบคลุมทั้งงานประจำและงานไม่ประจำ โดยใช้เครื่องมือชี้บ่งอันตรายที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศที่ดำเนินธุรกิจ  เช่น Job Safety Environment Analysis (JSEA), Green Card/Yellow Card และ Safety Health Environment Accountability Program (SHEAP) และ Hazard Identification, Risk Assessment and Determining Control (HIRADC) ของธุรกิจเหมืองในอินโดนีเซีย รวมทั้งระบบ SLAMs (Stop, Look, Assess and Manage) ของธุรกิจเหมืองในออสเตรเลีย และ Safety Walk Down Program ของธุรกิจไฟฟ้าในจีน

หลังจากประเมินความเสี่ยง บริษัทฯ จะมีการจัดทำแผนงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เพื่อลดและควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมถึงมีการตรวจติดตามแผนงาน ทบทวนการระบุอันตราย การประเมินความเสี่ยงและหาโอกาสในการปรับปรุงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทฯ กำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงตามลำดับขั้นการควบคุม (Hierarchy of controls) ตลอดจนกำหนดแผนการสื่อสาร การเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยง โดยหัวหน้างานซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมีหน้าที่ประเมินความเสี่ยงและสื่อสารให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนทราบก่อนเริ่มปฏิบัติงาน และหากพบเห็นอันตรายหรือความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ผู้ปฏิบัติงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการทำงานหรือยุติปฏิบัติงานได้จนกว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับตรวจสอบและการแก้ไข โดยไม่ถือว่าเป็นความผิด นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้ผู้ปฏิบัติงานรายงานเมื่อพบเห็นสภาพการณ์และสภาพการกระทำที่ไม่ปลอดภัย

ในกรณีที่เกิดอุบัติการณ์ระหว่างปฏิบัติงาน พนักงานหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์จะต้องแจ้งไปยังหัวหน้างานเพื่อประเมินระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ และรายงานต่อไปยังผู้เกี่ยวข้อง สำหรับอุบัติการณ์ขั้นรุนแรง บริษัทฯ จะจัดตั้งคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อสอบสวนและหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติการณ์นั้น ๆ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดมาตรการป้องกัน รวมทั้งบ่งชี้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ รายงานการสอบสวนอุบัติการณ์ รวมทั้งแนวทางการแก้ไขจะถูกนำไปรายงานในที่ประชุมผู้บริหารเป็นประจำทุกเดือน

การมีส่วนร่วม การให้คำปรึกษาและการสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงาน

บริษัทฯ เปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมด้านความปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการร่วมพัฒนา เสนอแนะความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น แบบสำรวจความเข้าใจด้านความปลอดภัย (Safety Perception Survey) คณะกรรมการความปลอดภัยฯ การประชุมประจำไตรมาส และการสัมมนาต่าง ๆ โดยข้อคิดเห็นดังกล่าว จะถูกนำมาวิเคราะห์และพัฒนาเป็นหัวข้อในการปรับปรุงด้านความปลอดภัย เพื่อนำไปสู่แผนการปฏิบัติงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนัก ป้องกันและลดอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงานผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น จดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ การประชุมก่อนเริ่มปฏิบัติงาน กิจกรรมส่งเสริมความรู้ระดับหน่วยธุรกิจ และการประชุมกลยุทธ์ระดับองค์กรประจำปี เป็นต้น

ในส่วนของผู้รับเหมา บริษัทฯ มีการควบคุมดูแลให้ผู้รับเหมาโดยเน้นย้ำให้ดำเนินงานอย่างปลอดภัย เปิดรับความคิดเห็นด้านความปลอดภัยจากผู้รับเหมาอย่างสม่ำเสมอ และมีการสื่อสารข่าวสารด้านความปลอดภัยระหว่างกัน เช่น การรายงานอุบัติเหตุ หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านความปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเปิดรับความคิดเห็นด้านความปลอดภัยจากชุมชนรอบข้าง และได้จัดการสื่อสารด้านความปลอดภัยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การอบรมด้านความปลอดภัยแก่ผู้มาเยี่ยมชม

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ประจำแต่ละพื้นที่การทำงาน โดยเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น ที่สำนักงานใหญ่ในไทย คณะกรรมการความปลอดภัยฯ ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้างร้อยละ 50 ฝ่ายลูกจ้างร้อยละ 50 และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ เพื่อทำหน้าที่ร่วมกันในการสำรวจสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เสนอโครงการเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยและพิจารณาแผนงานด้านความปลอดภัยประจำปี โดยจัดประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

การพัฒนาความรู้ความสามารถ

บริษัทฯ สนับสนุนการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยจัดหลักสูตรอบรมที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานแต่ละบุคคล โดยในแต่ละปีหน่วยงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและสายทรัพยากรมนุษย์จะจัดทำแผนการฝึกอบรม ทั้งการอบรมภายในและภายนอกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเฉพาะด้าน เช่น จัดให้มีการอบรมนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบริษัทฯ ให้กับผู้บริหารสูงสุดในทุกประเทศ รวมถึงจัดให้มีการอบรมหลักสูตรตามข้อกำหนดและกฎหมายของแต่ละท้องถิ่นและหลักสูตรเฉพาะตามลักษณะงานให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจ โดยมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น

  • การวิเคราะห์อันตรายจากการทำงาน ระบบใบอนุญาตทำงาน การทำงานบนที่สูง ในจีน
  • ความปลอดภัยในการขับรถ ระบบ Lock-out Tag-out การจัดการวัตถุระเบิด ในอินโดนีเซีย
  • การสอบสวนอุบัติการณ์ (Incident investigation) การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) ในออสเตรเลีย
  • การจัด Morning talk ก่อนเริ่มงาน การประชุมระหว่างหน่วยงานกับผู้รับเหมาก่อนเริ่มงาน

ในส่วนของผู้รับเหมา บริษัทฯ มีการประเมินความรู้ความสามารถด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้รับเหมาตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อ โดยพิจารณาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับลักษณะงานตามความเสี่ยง และผู้รับเหมาจะได้รับการฝึกอบรมโดยหน่วยงานความปลอดภัยเกี่ยวกับกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และรวมถึงนโยบายและกฎระเบียบของบริษัทฯ ก่อนการปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับเหมาทุกคนมีความรู้ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเพียงพอ และสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยความปลอดภัย

การส่งเสริมสุขภาพ

บริษัทฯ สนับสนุนการบริการด้านสุขภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานใหม่ การตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับพนักงานทุกคน ข้อมูลด้านสุขภาพของพนักงานถูกเก็บเป็นความลับ ภายใต้นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA: Personal Data Protection Act) โดยข้อมูลของพนักงานจะไม่ถูกใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการสื่อสารให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านอีเมลอย่างสม่ำเสมอ จัดให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล รวมถึงวัคซีนโควิด-19 ให้กับพนักงานในทุกประเทศและผู้รับเหมาที่ปฏิบัติงานประจำในพื้นที่เหมืองในอินโดนีเซีย รวมไปถึงมีนโยบายการปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย (Work from Home) เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับทุกประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมที่สนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ เช่น Safety Day ในไทยและอินโดนีเซีย สนับสนุนสถานที่ออกกำลังกายในโรงไฟฟ้าที่จีน เป็นต้น

การป้องกันและลดผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องด้วยความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

ด้วยความตระหนักถึงความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เช่น ผู้รับเหมา คู่ค้า ลูกค้า หรือชุมชน บริษัทฯ จึงกำหนดมาตรการดำเนินการที่หลากหลายตามลักษณะของความสัมพันธ์ดังนี้

ผู้รับเหมา บริษัทฯ พัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมของผู้รับเหมา (Contractor’s HSE Management Standard) โดยกำหนดให้ทุกหน่วยธุรกิจมีระบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลผู้รับเหมา (Contractor Management System) ที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับเหมา การบริหารจัดการผู้รับเหมา และการประเมินผลผู้รับเหมาประจำปี
คู่ค้า บริษัทฯ มีระบบบริหารจัดการเพื่อควบคุมกระบวนการจัดซื้อและจัดจ้าง ผลิตภัณฑ์ และบริการ
ลูกค้า บริษัทฯ มีบริการตรวจสอบประสิทธิภาพของหม้อต้มไอน้ำที่โรงไฟฟ้าของลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าเกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุดควบคู่ไปกับความปลอดภัย และบริษัทได้มีการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงด้านความปลอดภัย
ชุมชน บริษัทฯ จัดทำการสำรวจ Perception Survey กับชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงาน รวมถึงมีช่องทางรับข้อร้องเรียนของชุมชน

ในกรณีที่ได้รับข้อเสนอแนะด้านความปลอดภัยจากผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ บริษัทฯ จะนำมาแก้ไข พัฒนาและปรับปรุง เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานได้รับการป้องกันด้วยวิธีการที่เหมาะสม

Download Occupational Health and Safety Policy

© 2024 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.