By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings

ข้อมูลการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ข้อปฎิบัติภายในบริษัท

  • บริษัทฯ จัดให้มีแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัย
  • บริษัทฯ มีการเปิดเผยนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการทำงาน
  • บริษัทฯ มีระบบในการตรวจสอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการทุจริตและการให้สินบน
  • บริษัทฯ มีการจัดทำคู่มือจริยธรรมทางธุรกิจ
  • บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางในการรับข้อร้องเรียนด้านบรรษัทภิบาล
  • บริษัทฯ มอบหมายให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจ
  • บริษัทฯ กำหนดให้พนักงานใหม่ทุกคนต้องเข้าปฐมนิเทศเรื่องบรรษัทภิบาล

สิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

การประชุมผู้ถือหุ้น

  • ในการประชุมผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายอำนวยความสะดวกโดยจัดส่งข้อมูลสารสนเทศที่ครบถ้วน ชัดเจน เพียงพอ และทันเวลา โดยบริษัทฯ มีการให้ข้อมูล วัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม ตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆที่ใช้ในการประชุมแก่ผู้ถือหุ้นไว้ใน website ของบริษัทฯ เป็นการล่วงหน้าอย่างเพียงพอและทันเวลา โดยผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการเสนอเรื่องเพื่อบรรจุในวาระการประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอชื่อกรรมการได้ล่วงหน้าก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น
  • คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมและใช้สิทธิออกเสียงในการประชุม หรือมอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าร่วมประชุม หรือกรรมการอิสระคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ออกเสียงแทน ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ คณะกรรมการสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นใช้หนังสือมอบฉันทะรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการลงคะแนนเสียงได้
  • การประชุมผู้ถือหุ้นมีการจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิในการแต่งตั้งกรรมการเป็นรายคน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้แสดงความคิดเห็น ขอคำอธิบาย หรือตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อย่างเท่าเทียมกัน

การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

  • คณะกรรมการและผู้บริหารจะมีการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ของตนเอง คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในการประชุมครั้งถัดไป หลังจากกรรมการหรือผู้บริหารท่านนั้นได้รับการแต่งตั้ง หลังจากนั้น หากกรรมการหรือผู้บริหาร รวมทั้งคู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีการทำธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กรรมการหรือผู้บริหารท่านนั้นก็จะรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งถัดไปทุกครั้ง ทั้งนี้ รายงานการถือครองหลักทรัพย์ของกรรมการและผู้บริหารจะถูกบรรจุเป็นวาระหนึ่งของการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง โดยเลขานุการบริษัททำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมและจัดเตรียมรายงานดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นรายเดือน
  • บริษัทฯ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายการใช้ข้อมูลภายในอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลภายในที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือราคาหุ้น โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน ในการหาประโยชน์ส่วนตนหรือทำธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัทฯ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนห้ามมิให้ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ของตนในการซื้อขายหุ้นของบริษัทฯ หรือให้ข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหุ้นของบริษัท โดยในปี 2567 บริษัทฯ จัดให้มีกิจกรรมการสื่อสาร เพื่อสร้างความตระหนักในการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวตลอดทั้งปี โดยผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารนโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมธุรกิจ ผ่านช่องทางการสื่อสารและสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ภายในบริษัทฯ ไปยังกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ (ร้อยละ 100)
  • บริษัทฯ กำหนดเป็นนโยบายให้คณะกรรมการและผู้บริหาร รวมทั้งคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนบุคคลใดที่ได้รับทราบข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่เป็นสาระสำคัญอันมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ต้องไม่กระทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในช่วง 1 เดือนก่อนที่ข้อมูลงบการเงินหรือข้อมูลอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์บริษัทฯ จะเปิดเผยต่อสาธารณชน และต้องไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ จนกว่าจะพ้นระยะเวลา 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะแล้ว โดยฝ่ายเลขานุการบริษัทจะทำหน้าที่แจ้งเตือนให้กรรมการและผู้บริหารทราบล่วงหน้าถึงช่วงระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวทุกครั้ง
  • ในปี 2567 ฝ่ายเลขานุการบริษัทได้ชี้แจงให้กรรมการและผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ทุกท่านรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรายงานการมีส่วนได้ส่วนเสียของตนหรือของบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด ตลอดจนติดตามดูแลในช่วงระหว่างปี เพื่อให้กรรมการและผู้บริหารทุกท่านปรับปรุงข้อมูลการมีส่วนได้ส่วนเสียของตนให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยฝ่ายเลขานุการบริษัทเป็นผู้รับแจ้งการมีส่วนได้เสียฯ ดังกล่าว เพื่อรวบรวมและรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทต่อไป
  • คณะกรรมการบริษัทถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้โอกาสจากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานของบริษัทเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือทำรายการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท

การคำนึงถึงบทบาทผู้มีส่วนได้เสียและการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย

  • คณะกรรมการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ไว้ในนโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมทางธุรกิจ พร้อมจัดให้มีช่องทางการรับข้อร้องเรียนด้านบรรษัทภิบาลสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม
  • บริษัทฯ กำหนดนโยบายและการปฏิบัติต่อพนักงาน เพื่อการปฏิบัติที่เป็นธรรมแก่พนักงานทุกชนชาติและภาษา ทั้งในด้านโอกาส ผลตอบแทน การแต่งตั้งโยกย้าย การพัฒนาศักยภาพ และการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ บริษัทฯ ดำเนินตามมาตรการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอและเหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ป้องกันการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยอันเนื่องจากการทำงาน โดยประกาศปรัชญาการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Philosophy) ในการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลโดยยึดหลักสำคัญ 3 ประการ คือ หลักความยุติธรรมและเท่าเทียม (Equitability) หลักผลงาน (Performance-based) และหลักความสามารถ (Competency-based)
  • บริษัทฯ ส่งเสริมแนวทางการจ้างงานที่ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ที่ครอบคลุมผู้พิการและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยในปี 2567 บริษัทฯ ได้จ้างคนพิการรวมทั้งสิ้น 5 คน โดยเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนของสวัสดิการพนักงาน (บริการนวดผ่อนคลาย) และงานด้านเอกสาร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการจ้างงานคนพิการของบริษัทฯ โดยเป็นการจ้างงานกลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
  • บริษัทฯ มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning Organization) ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ผสานองค์ความรู้ ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยบริษัทฯ ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาตลอดเส้นทางอาชีพของพนักงาน เพื่อให้ทุกคนตระหนักในคุณค่าของตนเอง มีแนวทางเติบโตที่ชัดเจน และได้รับโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจ ในปี 2567 บริษัทฯ มีจำนวนชั่วโมงฝึกอบรมเฉลี่ยสำหรับพนักงานและผู้บริหารในประเทศไทย นับเป็น 34 ชั่วโมงต่อคน ผ่านรูปแบบการจัดหลักสูตรภายในต่างๆ ตลอดจนการจัดให้มีกิจกรรมการมีส่วนร่วม และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Internal Portal ของบริษัทฯ ที่ครอบคลุมเนื้อหาอันหลากหลาย เช่น ภาวะผู้นำ, ทักษะด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์, แนวคิดด้านความยั่งยืน (ESG), การรักษาสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสีย, การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน, ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานที่ทำงาน เป็นต้น
  • บริษัทฯ กำหนดเป็นนโยบายและข้อควรปฏิบัติต่อลูกค้าไว้ในคู่มือจริยธรรมธุรกิจ โดยยึดมั่นในการรักษาและปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับลูกค้าอย่างเคร่งครัด ด้วยการส่งมอบสินค้าและให้บริการที่มีคุณภาพตรงตามความคาดหมายของลูกค้าในราคาที่เป็นธรรม การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพียงพอและทันต่อเหตุการณ์ การปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างเคร่งครัด ตลอดจนการจัดให้มีระบบและกระบวนการที่ให้ลูกค้าสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการ รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้สินค้าและบริการของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า
  • บริษัทฯ มีนโยบายที่จะปฏิบัติต่อคู่ค้า และ/หรือเจ้าหนี้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมทั้งปฏิบัติตามพันธสัญญา ให้ข้อมูลที่เป็นจริง รายงานที่ถูกต้อง การเจรจาแก้ปัญหาและหาทางออกโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
  • บริษัทฯ กำหนดนโยบายและการปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้าไว้ในคู่มือจริยธรรมธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักสากล ภายใต้กรอบแห่งกฎหมายเกี่ยวกับหลักปฏิบัติการแข่งขันทางการค้า และไม่ละเมิดความลับหรือล่วงรู้ความลับทางการค้าของคู่แข่งด้วยวิธีฉ้อฉล

การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

  • บริษัทฯ กำหนดนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อยืนยันการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม รักษากฎกติกา ระเบียบ จรรยาบรรณ เคารพและประพฤติต่อทุกฝ่ายด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม
  • บริษัทฯ มีนโยบายการดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจและการพัฒนาของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ตลอดจนยึดมั่นปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน มุ่งมั่นและพยายามยกระดับคุณภาพของสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ดำเนินการเองและร่วมมือกับภาครัฐหรือชุมชน ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ
  • บริษัทฯ ประกาศนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน และจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันซึ่งครอบคลุมธุรกิจในทุกประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปลงทุน ทั้งในระดับบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน พร้อมจัดทำมาตรการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว และรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งได้มีการสื่อสารให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เรื่องการให้-รับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง หรือประโยชน์อื่นใด โดยในปี 2567 บริษัทฯ จัดให้มีกิจกรรมการสื่อสารด้านการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อสร้างความตระหนักในการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวตลอดทั้งปี ผ่านระบบ Internal Portal และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ภายในบริษัทฯ ไปยังกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ (ร้อยละ 100) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ออกหนังสือขอความร่วมมือไปยังบุคคลภายนอก เรื่องการงดให้ของขวัญ (No Gift Policy) แก่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ อีกด้วย

การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

  • บริษัทฯ จัดทำเว็บไซต์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยแสดงข้อมูลของบริษัทอย่างครบถ้วนและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
  • บริษัทฯ จัดทำรายงานเพื่่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI Sustainability Reporting Standardsโดยได้รับการตรวจรับรองรายงานโดยหน่วยงานภายนอกเป็นประจำทุุกปี ว่ามีความสอดคล้องกับ GRI Standards ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้สรุปสาระสำคัญด้านความยั่งยืนเอาไว้ใน 56-1 One Report ด้วย
  • บริษัทฯ มีการจัดตั้งหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อให้นักลงทุนภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลของบริษัทได้สะดวก

ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

โครงสร้างและองค์ประกอบคณะกรรมการบริษัท

  • ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการบริษัทมีกรรมการรวมทั้งสิ้น 13 คน ประกอบด้วย กรรมการอิสระ 5 คน (ร้อยละ 38) กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร 7 คน (ร้อยละ 54) และกรรมการที่เป็นผู้บริหาร 1 คน (ร้อยละ 8)
  • คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการเพศชาย 12 คน (ร้อยละ 92) เพศหญิง 1 คน (ร้อยละ 8)
  • คณะกรรมการบริษัทมีกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  • ประธานกรรมการบริษัท เป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร โดยมีการแต่งตั้งประธานกรรมการอิสระ (Lead Independent Director) เพื่อร่วมพิจารณากำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัท
  • ประธานกรรมการบริษัท ไม่ใช่บุคคลเดียวกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
  • ประธานกรรมการบริษัท ไม่เป็นประธานหรือสมาชิกในคณะกรรมการชุดย่อย
  • ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นกรรมการอิสระ
  • ประธานคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหา เป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
  • ประธานคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน เป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
  • ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) เป็นกรรมการอิสระ

หลักเกณฑ์ในการให้กรรมการดำรงตำแหน่งในบริษัทอื่น

  • บริษัทกำหนดให้ผู้ที่เป็นกรรมการบริษัทดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนได้ไม่เกิน 5 บริษัท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติทั่วไปของกรรมการ ตามที่ระบุไว้ในแนวปฏิบัติ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยคณะกรรมการบริษัท ข้อ 5.1 วรรค 5 คุณสมบัติทั่วไปของกรรมการ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2557
  • ในปี 2567 ไม่มีกรรมการที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 5 แห่ง

การประชุมคณะกรรมการบริษัท

  • บริษัทฯ มีการกำหนดวันประชุมคณะกรรมการบริษัทเป็นการล่วงหน้าในแต่ละปี โดยเลขานุการบริษัทจะแจ้งกำหนดวันประชุมสำหรับการประชุมทั้งปี (Annual Board Calendar) ให้กรรมการทราบล่วงหน้าในช่วงกลางปี (ราวเดือนสิงหาคม) ก่อนการประชุมในปีถัดไป เพื่อให้กรรมการสามารถจัดสรรเวลาและเข้าร่วมประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งกำหนดล่วงหน้าไว้ที่ทุกสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ยกเว้นในเดือนกุมภาพันธ์และธันวาคม ซึ่งคณะกรรมการกำหนดให้มีการประชุมไว้ในสัปดาห์ที่สองของเดือน และมีการประชุมพิเศษเพิ่มตามความจำเป็น โดยมีการกำหนดวาระการประชุมที่ชัดเจน มีเอกสารประกอบการประชุมที่ครบถ้วนและเพียงพอ และจัดส่งให้กับคณะกรรมการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทมีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนเข้าร่วมประชุม
  • ในปี 2567 คณะกรรมการบริษัทได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง โดยมีกรรมการเข้าร่วมการประชุมฯ เฉลี่ยร้อยละ 98.72 และจัดให้มีการประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร โดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุม จำนวน 1 ครั้ง โดยมีกรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหารเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้จำนวน 11 คน

การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ

  • พิจารณาทบทวนและอนุมัติวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ของบริษัท พร้อมติดตามดูแลฝ่ายบริหารให้มีการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ โดยการติดตามผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ได้ถูกบรรจุเป็นวาระประจำในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกเดือน ตลอดจนยังมอบหมายให้ฝ่ายบริหารทบทวนว่าได้ดำเนินงานตามแผนประจำปีและแผนกลยุทธ์ที่วางไว้หรือไม่ โดยคณะกรรมการบริษัทจะให้ข้อแนะนำหรือข้อคิดเห็น ในกรณีที่ต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไข
  • อนุมัตินโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมธุรกิจ และกำหนดให้มีการทบทวนเป็นประจำทุกปี โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหาทำหน้าที่กลั่นกรอง และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ พร้อมติดตามให้มีการสื่อสารและปฏิบัติตามนโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมธุรกิจอย่างสม่ำเสมอโดยในปี 2567 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน (ร้อยละ 100) ได้รับการสื่อสารถึงสาระสำคัญของนโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมธุรกิจ
  • ติดตามดูแลให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อย และกรรมการรายบุคคล พร้อมรายงานผลต่อคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกปี
  • พิจารณารายงานแผนสืบทอดตำแหน่งโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างสม่ำเสมอ

การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร

  • ติดตามดูแลให้ฝ่ายจัดการจัดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ โดยจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการจัดให้มีการแนะนำลักษณะธุรกิจ และแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้แก่กรรมการใหม่
  • ติดตามดูแลให้มีโครงการสำหรับพัฒนาผู้บริหาร โดยให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารรายงานต่อคณะกรรมการเป็นประจำทุกปี ถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการไปในระหว่างปี เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาควบคู่กันไปกับการพิจารณาแผนสืบทอดตำแหน่ง
© 2025 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.