By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
“กระบวนการคิดเชิงออกแบบ” ที่ไม่หยุดนิ่ง “ธรรมศาสตร์-บ้านปูฯ” จัด “Webinar” ขับเคลื่อน “โครงการออกแบบเกมฯ” จุดประกายการเรียนรู้ให้ “นวัตกรเยาวชนรุ่นใหม่” ด้วยรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก!

“กระบวนการคิดเชิงออกแบบ” ที่ไม่หยุดนิ่ง “ธรรมศาสตร์-บ้านปูฯ” จัด “Webinar” ขับเคลื่อน “โครงการออกแบบเกมฯ” จุดประกายการเรียนรู้ให้ “นวัตกรเยาวชนรุ่นใหม่” ด้วยรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก!

ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 ที่แผ่ขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศและทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อสังคมและการดำเนินชีวิตของทุกคน แต่กระบวนการคิดเชิงทักษะ หรือ Design Thinking ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เมื่อเหล่านวัตกรเยาวชนจากโครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2” ที่จัดโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ยังคงดำเนินกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ ที่ให้ทุกคนได้ออกแบบและพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อสังคม เรียกได้ว่าแม้ทุกคนจะ Physical Distancing แต่ก็ยังสามารถฝึกทักษะการคิดเชิงออกแบบ พัฒนารูปแบบเกมของทีมตนเอง ให้ดำเนินต่อไปได้

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ ไม่ว่าจะในภาวะปกติหรือภาวะวิกฤติโรคระบาดที่ทุกคนเผชิญกันอยู่ขณะนี้ บ้านปูฯ เชื่อมั่นว่าเยาวชนสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้ ครั้งนี้ เราจึงพร้อมสนับสนุนให้โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่นที่ 2 เดินหน้าต่อไปอย่างไม่สะดุด เราส่งเสริมให้คณะทำงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แม้กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการแบบรวมกลุ่มพบปะกัน หรือการลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ จะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการฯ เราอยากให้นวัตกรรุ่นเยาวชนทั้ง 14 ทีม รู้จักปรับตัว ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และใช้โอกาสให้คุ้มค่า ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินโครงการก็เป็นไปอย่างราบรื่น และมีพัฒนาการตามแผน บางกลุ่มที่เลือกออกแบบบอร์ดเกมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย ก็ถือว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสอันดีและเป็นประโยชน์ที่พวกเขาได้ทบทวนและตกผลึกการออกแบบ บอร์ดเกมของพวกเขากับสถานการณ์ที่มีความเกี่ยวโยงกับหัวข้อของตนเอง ส่วนทีมที่มีหัวข้อเกมในมิติอื่นๆ ก็สามารถพัฒนางาน ต่อยอดไปได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน”

สำหรับ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “นี่เป็นอีกครั้งที่นับเป็นความท้าทายในการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งทั้งคณะทำงานและตัวเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เอง เป็นการเดินหน้ากิจกรรมบนพื้นฐานความปลอดภัยและรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยทุกๆ คนมีความตั้งใจในการเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบที่เราออกแบบมา นั่นคือการอบรมผ่าน Webinar มาเป็นตัวเชื่อมทุกๆ คนเข้าด้วยกันในครั้งนี้ ทั้ง 14 ทีมที่เข้าร่วม และเหล่านักพัฒนาบอร์ดเกมที่มาร่วมโค้ชน้องๆ ต่างก็อาศัยการทำงานรับ-ส่งกันอย่างคล่องตัว แม้ว่าจะมีสถานการณ์ไม่ปกติมาท้าทาย แต่เราก็สามารถเดินหน้าโครงการไปได้ อย่างที่เราเชื่อว่า แม้ทุกอย่างจะหยุดนิ่ง แต่กระบวนการคิดเชิงทักษะของเหล่านวัตกรรุ่นใหม่ไม่เคยหยุดนิ่ง”

สำหรับหลักสูตร Webinar ที่นับเป็นกิจกรรมในโมดูลที่ 2 ของน้องๆ นั้น ผ่านพ้นไปด้วยความสนุกและความรู้อัดแน่นในรูปแบบออนไลน์ ที่นับเป็นมิติใหม่ในการเดินหน้าโครงการฯ โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีทั้งการอบรมรวมและการอบรมแยกเป็นกลุ่มย่อย โดยในส่วนของการอบรมในห้องรวม มีทั้งช่วงเรียนรู้วิธีการนำเกม และถอดบทเรียนจากการเล่นเกมโดยเหล่านักพัฒนาบอร์เกมซึ่งเป็นกูรูที่คร่ำหวอดในวงการบอร์เกมมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ทีมอาจารย์ที่ปรึกษาประจำโครงการจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังได้มาให้ความรู้น้องๆ เกี่ยวกับเทคนิคการพัฒนาคู่มือเกม (Rule book) ให้น่าสนใจอีกด้วย ส่วนการอบรมแบบกลุ่มย่อยนั้น บรรดานักพัฒนาบอร์ดเกมต่างขนความรู้และไอเดียต่างๆ มากมายมาเพื่อติวเข้มการพัฒนาเกมต้นแบบ (Game Prototype) ให้แก่น้องๆ ในทุกสเต็ป ทั้งการปรับปรุงกลไกของเกมแบบเจาะลึกเพื่อสร้างความสนุกในเกม รวมไปถึงเทคนิคเสริมต่างๆ เพื่อให้เกมมีความน่าสนใจ นอกจากนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาประจำโครงการยังได้เปิดช่วงพูดคุยเพื่อให้ทุกคนในทีมได้ปรึกษาหารือถึงความคืบหน้าและอุปสรรคปัญหาของการดำเนินงานของแต่ละทีมอีกด้วย

ทีม H.D. people จากโรงเรียนสรรพวิทยาคม จังหวัดตาก ที่หยิบยกประเด็นการให้ความรู้ชนกลุ่มน้อยเกี่ยวกับความสะอาด ซึ่งถือเป็นหัวข้อบอร์ดเกมที่เกี่ยวข้องกับสภาวการณ์ช่วงนี้ กล่าวว่า “รู้สึกว่าการอบรมในครั้งนี้ เป็นประโยชน์กับหัวข้อในการพัฒนาบอร์ดเกมของพวกเราเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้เราได้รับข้อมูลเพิ่มเติมมาปรับปรุงรายละเอียดของเกมเราแล้ว เรายังได้รับคอมเม้นท์จากพี่ๆ นักพัฒนาบอร์ดเกม ที่มาร่วมให้ไอเดีย ปรับเสริมเติมแต่งในจุดที่คิดว่าน่าจะไปต่อได้อีก ให้รายละเอียดที่ดีมากยิ่งขึ้น คือ รู้สึกว่าแม้เราจะไม่ได้ไปเรียนตามปกติ แต่เราก็ยังสามารถนำเวลาตรงนี้มาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ในทุกๆ เรื่องให้ได้ดีขึ้น ส่วนการอบรมแม้อาจจะไม่ได้ทำแบบ face to face เหมือนกับที่เราเคยอบรมในโมดูลที่ 1 ซึ่งก็อาจจะแตกต่างไปบ้าง แต่โดยรวมก็ทำให้เราต้องพยายามเก็บไอเดียจากเวลาที่เรามีจำกัดกว่าตอนเข้าค่ายในโมดูลที่ 1 ถือเป็นการฝึกตนเองและพัฒนาทีมไปได้อย่างมาก”
บริษัท บ้านปู จำกัด มหาชน และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงผลักดันให้โครงการออกแบบเกมออกแบบสังคม รุ่นที่ 2 เดินหน้าต่อไป โดยหลังจากการอบรม Webinar น้องๆ ทุกทีม ต่างกลับไปพัฒนาเกมต้นแบบของทีมตนเองและจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมผ่านช่องทางออนไลน์เกี่ยวกับการออกแบบ Artwork สำหรับบอร์ดเกม รวมทั้งวิธีทำวิดีโอแนะนำเกมให้น่าสนใจอีกด้วย โดยทุกคนสามารถมาร่วมเป็นกำลังใจให้ทั้ง 14 ทีมนวัตกรรุ่นใหม่ พร้อมติดตามความเคลื่อนไหวโครงการฯ ผ่านทาง Facebook Fanpage @tu.banpu

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 14 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบ แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่

หัวข้อ การพัฒนาชุมชน
1. ทีม H.D. people จากโรงเรียนสรรพวิทยาคม จังหวัดตาก ประเด็น ให้ความรู้ชนกลุ่มน้อย
2. ทีม แพรวาและไตรเพชรกล้า จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเด็น การจัดการขยะ
3. ทีม Super Family จากโรงเรียนปัญญาทิพย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเด็น การเลี้ยงเด็ก
4. ทีม HERB HERB TEAM จากโรงเรียนปราจีนกัลยาณี จังหวัดปราจีนบุรี ประเด็น สมุนไพรชุมชน
5. ทีม The Last Hope จากโรงเรียนวัชรวิทยา จังหวัดกำแพงเพชร ประเด็น มลพิษทางอากาศ

หัวข้อ ทักษะชีวิต (เด็กและเยาวชน)
6. ทีม ตาแรกไม่เป็นไรตาต่อไปไฟเริ่มไหม้ทั้งวง จากโรงเรียนสวนกุหลาบมหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี ประเด็น ค้นหาตัวเอง
7. ทีม รักแท้ไม่ใช่แค่ Say Yes จากโรงเรียน บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2 กรุงเทพมหานคร ประเด็น เพศสัมพันธ์ในวัยเรียน
8. ทีม By U Bully จากโรงเรียนสรรพวิทยาคม จังหวัดตาก ประเด็น Bullying
9. ทีม BMK จากโรงเรียนบ้านหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี ประเด็น โกงข้อสอบ
10. ทีม DSU Ranger จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม ประเด็น ติดหวาน
11. ทีม PSTL จากโรงเรียนโพธิสารพิทยากร กรุงเทพมหานคร ประเด็น ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
12. ทีม SRP Team จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพมหานคร ประเด็น ซึมเศร้า
13. ทีม FD408 จากโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ กรุงเทพมหานคร ประเด็น การคุกคามทางเพศ

หัวข้อ นวัตกรรมในห้องเรียน
14. ทีม PN Team (ทีมโพธา) จากโรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี จังหวัดราชบุรี ประเด็น การเขียนโปรแกรม Coding

# # #

เกี่ยวกับบ้านปูฯ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนิน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจผลิตพลังงาน และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

© 2024 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.