By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
เยาวชนชาว “ค่ายเพาเวอร์กรีน 3” โชว์พลัง “ลดโลกร้อนด้วยสองมือเรา” ในช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคม

เยาวชนชาว “ค่ายเพาเวอร์กรีน 3” โชว์พลัง “ลดโลกร้อนด้วยสองมือเรา” ในช่วงปิดเทอมเดือนตุลาคม

13 – 19 ตุลาคม 2551: “ค่ายเพาเวอร์กรีน 3” ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเปิดประตูต้อนรับ อนาคตนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์จากทั่วประเทศที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด “ลดโลกร้อนด้วยสองมือเรา” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-19 ตุลาคม 2551 ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขต ศาลายา ทั้งนี้เพื่อเรียนรู้ถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนและร่วมหาแนวทางลดความรุนแรงของปัญหาตามหลักวิทยาศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิทธิพงษ์ ดิลกวณิช คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” กล่าวว่า ปัญหา“สภาวะโลกร้อน” ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้นั้น นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหาเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ดังนั้น หากเราเริ่มต้นปลูกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมและสอนให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงสาเหตุและวิธีลดโลกร้อนด้วยความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

“ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของ ”ค่ายเพาเวอร์กรีน” เราจึงได้นำเรื่อง “สภาวะโลกร้อน” มาเป็นประเด็นหลักให้เยาวชนชาว “ค่ายเพาเวอร์กรีน 3” ได้ศึกษาและคิดค้นหาวิธีการแก้ไข รวมทั้งหาวิธีการป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมาจากภาวะโลกร้อนอย่างเป็นระบบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียน ซึ่งเราหวังว่า “ค่ายเพาเวอร์กรีน” จะมีส่วนไม่มากก็น้อยในการช่วยลดภาวะโลกร้อน”

โดยตลอดระยะเวลา 7 วันของการเข้าค่ายฯ สมาชิกชาว “ค่ายเพาเวอร์กรีน 3” ได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจริงนอกห้องเรียนเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน ซึ่งเริ่มต้นจากการบรรยายเรื่อง “มนุษย์กับโลกร้อน” โดยอดีตนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังจากองค์การนาซา และผู้เชี่ยวชาญทางด้านโลกร้อน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา สำหรับกิจกรรมที่ขาดไม่ได้และถือเป็นหัวใจสำคัญของ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ตามคำนิยามของค่ายฯ ที่ว่า “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” ก็คือ กิจกรรมภาคปฏิบัติ ซึ่งในปีนี้ สมาชิกค่ายฯ ทั้ง 62 คนได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในหัวข้อ “Together we make change” โดยการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศผ่านการดู“วงปีไม้” ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์หาสภาพอากาศในอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึงการทำนายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต ในขณะเดียวกันชาว “ค่ายเพาเวอร์กรีน 3” ยังได้ศึกษาหาปริมาณฝุ่นในอากาศซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิของโลก ตลอดจนเรียนรู้วิธีใช้โปรแกรม Google Earth เพื่อศึกษาข้อมูลทางภูมิศาสตร์ในสถานที่ต่างๆ จากแผนที่ภาพถ่ายทางดาวเทียม และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างเฉียบพลัน โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาพายุนาร์กีส

นอกเหนือจากการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมอันทันสมัยแล้ว น้อง ๆ ชาว “ค่ายเพาเวอร์กรีน 3” ยังได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์ใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานด้วยการไปทัศนศึกษา ณ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และเยี่ยมชมระบบนิเวศน์ของป่าชายเลนและป่าบกในห้องเรียนธรรมชาติ นอกจากนี้ “ค่ายเพาเวอร์กรีน 3” ยังเปิดเวทีให้น้องๆ เยาวชนได้แสดงพลังความคิดสร้างสรรค์และถ่ายทอดความรู้เรื่องโลกร้อนสู่สาธารณชนในงานแสดงนิทรรศการโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเรื่อง “ลดโลกร้อนด้วยสองมือเรา” ที่จะจัดขึ้น ณ ห้างเทสโก้ โลตัส ศาลายา ในวันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม นี้

ทางด้านนางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโสสายสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปี กล่าวว่า บ้านปูฯ มองว่า “ค่ายเพาเวอร์กรีน” เป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้เยาวชนได้รู้จักคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการรู้จักทำงานเป็นทีม ซึ่งตรงนี้ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยบริษัทบ้านปูฯ หวังว่า น้อง ๆ เยาวชนเหล่านี้จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจาก “ค่ายเพาเวอร์กรีน 3”ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

© 2024 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.