By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
บ้านปูฯ ร่วมกับ มหิดล ชื่นชม “สามเหลี่ยมโกงกาง” โครงงานชนะเลิศค่าย “เพาเวอร์กรีน” ปีที่ 14 นวัตกรรมสู้วิกฤตโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

บ้านปูฯ ร่วมกับ มหิดล ชื่นชม “สามเหลี่ยมโกงกาง” โครงงานชนะเลิศค่าย “เพาเวอร์กรีน” ปีที่ 14 นวัตกรรมสู้วิกฤตโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ


นางอุดมลักษณ์ โอฬาร (แถวล่าง – ขวาสุด) ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และ
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ (แถวล่าง – ที่สองจากขวา) ประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 14 และ
น้องๆ เยาวชนทีมชนะเลิศการประกวดโครงงานฯ

จบลงแล้วเป็นที่เรียบร้อย สำหรับค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ปีที่ 14 โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ถูกจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้หัวข้อ “รวมพลังเยาวชน สู้วิกฤตโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ” หลังจากที่ค่ายฯ ได้นำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์จำนวน 70 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ ร่วมเข้าค่ายฯ กว่าหนึ่งสัปดาห์ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เยาวชนทุกคนต่างก็ได้ศึกษาผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงเรียนรู้แนวทางการรับมือ วิธีการจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาจากวิกฤตดังกล่าวกันเต็มที่ พร้อมระดมไอเดียดีๆ มาสร้างสรรค์เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่จัดแสดงและนำเสนอต่อสาธารณชนได้อย่างน่าประทับใจ

ในปีนี้เยาวชนทั้ง 70 คน ได้แบ่งทีมสร้างสรรค์โครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยเน้นต่อยอดแนวคิดในการต่อสู้กับวิกฤตโลกร้อน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีหลายโครงงานฯ ที่น่าสนใจ เช่น โครงงานสาหร่ายเปลี่ยนโลก ที่สร้างปะการังเทียมจากคลอโรพลาสต์ของสาหร่ายคลอเรลลา (Chlorella) ผสมกับโปรตีนเส้นไหม และนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นส่วนประกอบ เพื่อสร้างที่อยู่ใหม่ให้สัตว์น้ำและปล่อยออกซิเจนคืนกลับสู่ธรรมชาติ และ โครงงานไบโอพลาสอ้อย ที่คิดค้นพลาสติกชีวภาพจากเซลลูโลสในใบอ้อยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ใบอ้อย ซึ่งเป็นส่วนที่เกษตรกรไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ และลดปัญหาการเผาใบอ้อยทิ้งก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงภาวะโลกร้อนอีกด้วย


น้องๆ เยาวชนจากสีฟ้า และ สีชมพู และตัวอย่างโครงงานวิทยาศาสตร์ โครงงานไบโอพลาสอ้อย และ โครงงานสาหร่ายเปลี่ยนโลกตามลำดับ

สำหรับโครงงานฯ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้มีชื่อว่า “ขยะทะเลมาสร้างทะเล” โดยเยาวชนได้ร่วมกันคิดค้น “สามเหลี่ยมโกงกาง” นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และฟื้นฟูชายฝั่ง รวมถึงคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศป่าชายเลน หนึ่งในระบบนิเวศที่สำคัญ โดยโครงสร้างถูกออกแบบให้มีลักษณะสามเหลี่ยม เพื่อช่วยลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบชายฝั่ง และมีรากแตกแขนงเหมือนลักษณะของต้นโกงกาง เป็นตัวช่วยค้ำจุนลำต้นและชะลอการไหลของน้ำ ซึ่งผลิตจากขยะพลาสติกที่นำมาผสมกับคอนกรีต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติก และลดปัญหาขยะได้ด้วย


ภาพจำลองนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “สามเหลี่ยมโกงกาง”

นายกิตติภูมิ ตรีสาม หรือ น้องพี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนทีมชนะเลิศ กล่าวว่า “ในจังหวัดของผม มีพื้นที่ป่าชายเลนที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโลกร้อนและภัยธรรมชาติต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ผมและเพื่อนๆ จึงเริ่มต้นคิดโครงงานฯ จากการนำเอาปัญหาดังกล่าวมาเป็นโจทย์ตั้งต้น พร้อมนำความรู้ที่ได้รับจากค่ายฯ มาประยุกต์ใช้ โดยหลังจากนี้ผมและเพื่อนๆ ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาส จะนำเอาแนวคิดของโครงงานนี้ไปใช้กับพื้นที่จริงเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
การได้เข้าค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีมากๆ ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ทำให้ผมรู้สึกรักและเห็นความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผมยังได้พัฒนาตัวเองอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทักษะการใช้ชีวิต ความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการนำเสนอผลงาน หลังจากค่ายนี้ ผมตั้งใจจะใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และในอนาคตผมมีความฝันอยากเป็นนักบริหารธุรกิจ ที่จะทำงานโดยคำนึงถึงการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีความรับผิดชอบ”


นายกิตติภูมิ ตรีสาม หรือ น้องพี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตัวแทนทีมชนะเลิศจาก โครงงาน “ขยะทะเลมาสร้างทะเล” ที่คิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “สามเหลี่ยมโกงกาง”

สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ของค่ายฯ ปีนี้ ประกอบด้วยการทัศนศึกษา ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และมีระบบนิเวศที่หลากหลาย การร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยการเก็บขยะบริเวณชายฝั่ง เพื่อคืนความสะอาดและความสวยงามให้ชายหาดไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้วิธีแยกประเภทขยะและผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับฟังเสวนาหัวข้อ “การต่อสู้เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความหลากหลายทางชีวภาพ” จากคณะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร


น้องๆ เยาวชนขณะร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ ณ บึงบัวอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์


น้องๆ ร่วมกันคืนความสวยงามให้ชายหาด ณ สวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเรียนรู้วิธีการแยกประเภทขยะที่ถูกต้องและผลกระทบของขยะต่อสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมต่างๆ

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปีนี้เรามุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่กำลังเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนตระหนักถึงผลกระทบและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว เราเห็นสัญญาณที่ดีจากการแสดงออกถึงความรักและความหวงแหนธรรมชาติของเยาวชนในค่ายฯ ที่ชัดเจน ผ่านแพสชัน (Passion) ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับการจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่น้องๆ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์แนวคิดที่หลากหลายจากการคิดอย่างเป็นระบบ โดยนำความรู้เดิมมาเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ที่ได้รับจากค่ายฯ แล้วประยุกต์ใช้ให้เกิดขึ้นจริง เราเชื่อว่าน้องๆ เหล่านี้จะเติบโตไปเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีในการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังในอนาคต และสร้างโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นได้อย่างแน่นอน”

ค่าย “เพาเวอร์กรีน” เป็นหนึ่งในโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่บ้านปูฯ ริเริ่มขึ้นบนความมุ่งมั่นของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามกลยุทธ์ Greener ของบริษัทฯ ที่สอดคล้องกับหลัก ESG (Environmental, Social, Governance) หรือความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมว่า “การส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ ทุกกิจกรรมการเรียนรู้ในค่ายฯ จึงได้สอดแทรกการฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และการเชื่อมโยงความรู้ เพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจถึงปัญหาดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนสามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวทางการจัดการและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ที่เยาวชนอาศัยอยู่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชนและประเทศชาติต่อไป”

สำหรับเยาวชนและผู้ที่สนใจค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติม ได้ที่ เฟซบุ๊ก www.facebook.com/powergreencamp หรือโทร 0 2441 5000 ต่อ 2112

# # #

เกี่ยวกับค่าย เพาเวอร์กรีน
โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้แนวคิดที่ว่า “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม – เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน รวมทั้งส่งเสริมให้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ สร้างแกนนำและเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายของค่ายฯ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ

เกี่ยวกับ บมจ. บ้านปูฯ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนิน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย สปป.ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

“พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
บ้านปูฯ เชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน” ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โครงการซีเอสอาร์ รวมไปถึงโครงการด้านสังคมของบ้านปูฯ ในทุกประเทศ จึงมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับเยาวชนและชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน การฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิต หรือการค้นคว้า เรียนรู้ และค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกับคนอื่นๆ

© 2024 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.