By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
บ้านปูฯ จับมือ มหิดล เดินหน้า “ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 13”

บ้านปูฯ จับมือ มหิดล เดินหน้า “ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 13”


ผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและศิลปะ
สร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ
กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 13  ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพกับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” คัดเลือกเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์จำนวน 70 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศรวม 389 คน เข้าค่ายฯ ระหว่างวันที่ 18 – 25 ตุลาคม 2561 ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีนี้นอกจากเยาวชนจะได้เรียนรู้ตามแนวคิดหลักของค่ายฯ “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม-เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” แล้ว ยังได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่อย่างสร้างสรรค์จากการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเข้ากับทักษะด้านศิลปะ พร้อมรับฟังประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่สร้างรายได้จากการใช้ประโยชน์ของ      ความหลากหลายทางชีวภาพ เรียนรู้แนวคิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนไปพร้อมๆ กับการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์และผลิตผลท้องถิ่นจากชุมชนต้นแบบ ซึ่งเยาวชนสามารถนำความรู้ที่ได้ มาประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดในการสรรค์สร้างโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ


คุณเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา เจ้าของบริษัท เบญจเมธา เซรามิก จำกัด ขณะบรรยายสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อชุมชน

ในค่ายเพาเวอร์กรีนปีที่ 13 นี้ เยาวชนทั้ง 70 คน จากทั่วประเทศได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติในกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อชุมชน โดยคุณเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา เจ้าของบริษัท เบญจเมธา เซรามิก จำกัด เวิร์คชอปถ่ายภาพความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในเชิงวิทยาศาสตร์ โดย คุณโดม ประทุมทอง นักธรรมชาติวิทยา นักเขียนและช่างภาพด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเวิร์คชอปหลักการวาดภาพเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Illustration) และการบันทึกธรรมชาติ (Nature drawing)โดย คุณอุเทน ภุมรินทร์ นักสื่อสารธรรมชาติ พร้อมรับฟังเวทีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Art & Nature การเพิ่มมูลค่าให้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสร้างสรรค์”


คุณอุเทน ภุมรินทร์ นักสื่อสารธรรมชาติ ให้หลักการวาดภาพเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Illustration) และการบันทึกธรรมชาติ (Nature drawing)


คุณโดม ประทุมทอง นักธรรมชาติวิทยา นักเขียนและช่างภาพด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ให้ความรู้ด้านการถ่ายภาพความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ในเชิงวิทยาศาสตร์ 

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบ้านปูฯ เชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ค่ายเพาเวอร์กรีนเน้นพัฒนาศักยภาพเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน และสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยนำความรู้หรือประสบการณ์ที่ได้รับจากค่ายฯ ไปต่อยอดและปรับใช้ได้จริงสอดคล้องกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในปีนี้เรายังคงให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เน้นส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาทักษะด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญ การอนุรักษ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความหลากหลายทางชีวภาพ เราหวังว่าน้องๆ จะได้รับแรงบันดาลใจและแนวคิดในการประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากค่ายฯ ไปต่อยอดเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติในอนาคต ทั้งในเชิงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และในเชิงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน”


น้องๆ นำแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อชุมชน มาสร้างสรรค์เป็นโครงงานย่อย

สำหรับกิจกรรมพิเศษในปีนี้ เยาวชนได้เรียนรู้วิถีของชุมชนต้นแบบในจังหวัดนครปฐมและกาญจนบุรี ที่นำความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลไปพร้อมกับการอนุรักษ์ สำหรับ จ. นครปฐม เยาวชนจะได้เรียนรู้แนวทางการประยุกต์ใช้ทรัพยากรทางชีวภาพในเชิงพาณิชย์ผ่านแนวคิด “สามพรานโมเดล” โมเดลเพื่อพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน และเยี่ยมชมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวสวนที่รวมกลุ่มจัดตั้ง “โรงเรียนชาวสวนคลองจินดา” ส่วนใน จ. กาญจนบุรีนั้น เยาวชนได้เรียนรู้ขั้นตอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่เพื่อนำมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ ณ ป่าชุมชน ต.ลุ่มสุ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบที่นำแนวคิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนไปพร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับชุมชนของตน


น้องๆ เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวสวนที่ “โรงเรียนชาวสวนคลองจินดา”


กลุ่มเยาวชนขณะศึกษาและลงมือนำไม้ไผ่มาแปรรูป

นายทิวา สุดประเสริฐ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตำบลลุ่มสุ่ม กล่าวว่า “คนในชุมชนมีวิถีการดำรงชีวิตที่พึ่งพิงป่า โดยนำทรัพยากรไผ่มาใช้ประโยชน์ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ซึ่งในอดีตเศษไม้ไผ่ที่เหลือจากการแปรรูปจะถูกนำไปเผาทิ้งอย่างไร้คุณค่า ชุมชนจึงร่วมกันคิดหาวิธีที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษไม้ไผ่ต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน เช่น ของใช้ภายในบ้าน และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ ชุมชนยังมุ่งรักษาป่าชุมชนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยการนำทรัพยากรในป่ามาใช้อย่างเหมาะสม และไม่มากเกินความจำเป็น รวมถึงร่วมกันดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าเป็นประจำอีกด้วย”


นายทิวา สุดประเสริฐ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตำบลลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี หนึ่งในชุมชนต้นแบบที่นำแนวคิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
ไปพร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับชุมชนของตน

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 13 เสริมว่า “การมีความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างถูกต้อง ทั้งในแง่ทฤษฎี การปฏิบัติ ประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการทัศนศึกษานอกสถานที่ รวมทั้งการประยุกต์ใช้ทักษะด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นอกจากจะช่วยให้เยาวชนสามารถยกระดับ เพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์แล้ว ยังช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน”

โดยหลังจากเยาวชนได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแล้ว ได้นำความรู้ที่ได้จากตลอดกิจกรรมค่ายฯ มาตกผลึกและสร้างสรรค์เป็นโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนำเสนอแก่สาธารณชนและคณะกรรมการค่ายฯ โดยหัวข้อโครงงานฯ ทั้งหมดมีความหลากหลายตามประเด็นที่เยาวชนแต่ละกลุ่มให้ความสนใจ เช่น โครงงาน “ผล-ละ-มุก” ที่มีแนวคิดในการสกัดสารเพคตินจากเปลือกผลไม้ที่เหลือทิ้งจากการบริโภค เช่น กล้วย และแตงโม เพื่อนำมาผลิตเม็ดไข่มุกในเครื่องดื่มรูปแบบใหม่ที่ให้พลังงานน้อยกว่าไข่มุกทั่วไปกว่า 21 เท่า และ โครงงาน “Green Clean” ที่มีแนวคิดนำความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนของสมาชิกในกลุ่มแต่ละคน ที่มาจากหลายหลายภูมิลำเนามาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ต้นเทพทาโร เห็ดถอบ ปลาสลิด และสับปะรด โดยสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อุปโภค และบริโภคเพื่อสุขภาพ ให้สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้

สำหรับโครงงานฯ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษามูลค่า10,000 บาท ได้แก่ โครงงาน “Tannin Banana Peel” ที่มาพร้อมกับแนวคิดในการสกัดสารแทนนินจากเปลือกกล้วยจนได้เป็นสารแทนนินในรูปแบบผง ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ในอนาคต เช่น ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย อุตสาหกรรมฟอกย้อม ป้องกันศัตรูพืช และผลิตยารักษาโรค โดยโครงงานฯ ดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อนำเอาเปลือกกล้วยที่เหลือจากการบริโภคมาเพิ่มมูลค่าสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ไปพร้อมกับลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากเปลือกกล้วย ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อค่ายฯ ในปีนี้


นางสาววรรณ์วิสา ผู้ช่วย หรือ มด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
จากโรงเรียนเคียนซาพิทยาคม อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี ตัวแทนทีมชนะเลิศ จากโครงงาน “Tannin Banana Peel”

นางสาววรรณ์วิสา ผู้ช่วย หรือ มด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเคียนซาพิทยาคม อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตัวแทนทีมชนะเลิศ กล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับค่ายฯ ว่า “รู้สึกดีใจที่ตัดสินใจมาร่วมเข้าค่ายเพาเวอร์กรีนในปีนี้มาก เพราะนอกจากได้เรียนรู้ในห้องเรียนและออกไปทัศนศึกษาที่ต่างจังหวัดแล้ว ค่ายนี้ยังช่วยให้ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ในรูปแบบใหม่ โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้  ด้านศิลปะควบคู่ไปกับการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ได้สนุกมากๆ สามารถนำเอาการเรียนรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกเหนือจากความรู้แล้ว ค่ายนี้ยังทำให้ได้เจอเพื่อนๆ จากทั่วประเทศ ที่ชอบวิทยาศาสตร์เหมือนกัน ได้รับมิตรภาพมากมาย อยากให้พี่ๆ เพื่อนๆ ทุกคนสมัครเข้าค่ายฯ ในปีต่อๆ ไป เพราะการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก”

###

เกี่ยวกับค่าย เพาเวอร์กรีน
โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน”  (The Power Green Camp) ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยความร่วมมือระหว่างคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ภายใต้แนวคิดที่ว่า “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม – เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเน้นให้เยาวชนรู้จักนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน สร้างแกนนำและเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายของค่ายฯ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5  สายวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ

เกี่ยวกับ บมจ. บ้านปูฯ
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนินธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจไฟฟ้า และพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจรใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

“พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
บ้านปูฯ เชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน” ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โครงการซีเอสอาร์ รวมไปถึงโครงการด้านสังคมของบ้านปูฯ ในทุกประเทศ จึงมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับเยาวชนและชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน การฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิต หรือการค้นคว้า เรียนรู้ และค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกับคนอื่นๆ

© 2024 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.