By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
บ้านปู เชื่อมโยง “รัฐ-เอกชน-การศึกษา” เปิดเวทีสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ในงาน “ดีค้าบ เฟสติวัล” รับ 20 ปีค่ายเพาเวอร์กรีน

บ้านปู เชื่อมโยง “รัฐ-เอกชน-การศึกษา” เปิดเวทีสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ในงาน “ดีค้าบ เฟสติวัล” รับ 20 ปีค่ายเพาเวอร์กรีน

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “ดีค้าบ เฟสติวัล” (Decarb Festival) ภายใต้แนวคิด “ดีค้าบ – The Decarb Mission” ลดคาร์บอนให้โลกคูลล์ รับปีที่ 20 ของโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพาเวอร์กรีน (Power Green Camp) หวังปลุกพลังคนรุ่นใหม่ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วยลดโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบสร้างสรรค์ (Decarbonization) ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานที่อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

 

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูมุ่งผสานพลังงานที่หลากหลายสู่การพัฒนาโซลูชันพลังงานใหม่ที่ยั่งยืน เพื่อให้พร้อมรับเทรนด์พลังงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ Energy Symphonics เราเชื่อว่าการรักษาสมดุลทางพลังงานจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการจัดการด้านพลังงานบนโลกใบนี้และมีส่วนสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา เราได้ส่งเสริมการลดกระบวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นระบบ (Decarbonization) ในพอร์ตธุรกิจ อาทิ การใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่ไปกับระบบแบตเตอรี่ และการส่งเสริมการเดินทางและขนส่งด้วยยานพาหนะไฟฟ้า ทั้งนี้ เราตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนลง 20% ภายในปี 2030 และก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2050

“บ้านปู ตระหนักดีว่าการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ซึ่งรวมถึง ‘คนรุ่นใหม่’ บ้านปูและมหาวิทยาลัยมหิดลจึงร่วมสนับสนุนกิจกรรมค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพาเวอร์กรีน (Power Green Camp) มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 และปีนี้มาพร้อมความพิเศษด้วยการเพิ่มกิจกรรม ‘ดีค้าบ เฟสติวัล’ (Decarb Festival) ที่มุ่งปลุกพลังสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีแพสชันด้านสิ่งแวดล้อมได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ร่วมกันตลอด 2 วัน (ระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม) ที่อุทยาน 100 ปีจุฬาฯ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปัจจุบันโลกเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนและรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ ตลอดจนการขยายตัวของเมือง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน มหาวิทยาลัยมหิดลของเรามีนโยบายขับเคลื่อนในด้านสิ่งแวดล้อมหลายด้าน โดยเฉพาะที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของประเทศไทย เรามุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการอย่างบูรณาการ เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรที่ไม่เพียงมุ่งเน้นด้านวิชาการ แต่ยังมุ่งปลูกฝัง ‘หลักคิดและจิตสำนึก’ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้แบบสหวิทยาการและการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และการพัฒนา สู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่กล้าออกแบบอนาคตอย่างมีความรับผิดชอบ สอดรับกับวิสัยทัศน์ Top Priority In Environment – เรื่องสิ่งแวดล้อม ต้อง ENVI MAHIDOL”

นายศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมลดโลกร้อน กล่าวว่า “ประเทศไทยได้เดินหน้าตามแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 -2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021 – 2030) ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2030, มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero Emission ในปี 2065 ซึ่งภาครัฐได้กำหนดกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 สาขา ได้แก่ สาขาพลังงาน คมนาคมขนส่ง การจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และเกษตร รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือและกลไกในการสนับสนุนอีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะเผชิญข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี และเงินทุน กรมลดโลกร้อนยังคงมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือและส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนให้บรรลุตามเป้าที่ประเทศกำหนด และเชื่อว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน การศึกษา และประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับเยาวชน ซึ่งถือเป็นพลังที่สำคัญของเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมเยาวชน   ในการปรับตัวให้พร้อมรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ โครงการพัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (CCE Children & Youth) โครงการอีโคสคูล (Eco-school) เพื่อเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนสู่อนาคตเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม”

ทั้งนี้ นอกจากการเสวนาในหัวข้อ “เชื่อมโยงภารกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ: รัฐ-การศึกษา-เอกชน” ภายในงานยังมีเสวนาในหัวข้อ “20 ปี Power Green Camp สร้างพลังเยาวชนด้วยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม” นำโดย นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), รศ. ดร.นพพล อรุณรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, น.สพ.ศรัณย์ นราประเสริฐกุล สัตวแพทย์และนักแสดงที่มีแพสชันด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงศิษย์เก่าเยาวชนค่ายเพาเวอร์กรีน รุ่นที่ 12 และ 17 เพื่อสะท้อนบทบาทและพลังของของโครงการ Power Green Camp ในการปลูกฝังความรู้และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน ผ่านการบูรณาการวิทยาศาสตร์เข้ากับการเรียนรู้และการลงมือปฎิบัติจริง รวมทั้งการมีส่วนร่วมของโครงการฯ ในการส่งเสริมศักยภาพเยาวชนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี! ระหว่างวันนี้ถึง 3 พฤษภาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถ้าอยากเดินทางแบบลดคาร์บอน บ้านปูได้จัดรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 100% มูฟมี (MuvMi) รับ-ส่งฟรีระหว่างสถานีรถไฟฟ้า MRT สามย่านและอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/powergreencamp

 

#ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพาเวอร์กรีน #PowerGreenCamp20

#Decarb #Banpu #ENVImahidol #ดีค้าบเฟสติวัล

###

 

เกี่ยวกับค่าย “เพาเวอร์กรีน”

โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้แนวคิดที่ว่า “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม – เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน รวมทั้งส่งเสริมให้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ สร้างแกนนำและเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

 

เกี่ยวกับบ้านปู

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ในประเทศไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม บริษัทฯ มุ่งพัฒนาโซลูชันด้านพลังงานที่ยั่งยืน ตอบโจทย์การสร้างความสมดุลระหว่าง 3 ความท้าทายด้านพลังงาน (Energy Trilemma) พร้อมก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ภายใน 2050

 

© 2025 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.