การจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสและเป็นธรรม
การดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากช่วยลดความเสี่ยงที่ธุรกิจจะหยุดชะงักแล้ว ยังช่วยยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของบริษัทฯ อีกด้วย ดังนั้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ โดยกำหนดแนวทางในการคัดเลือกคู่ค้าที่พิจารณาจากประเด็นต่างๆ ได้แก่
- ศักยภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและการกำกับดูแลกิจการที่ดี
- ความสามารถในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน ตรงต่อเวลา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือมีปริมาณการปล่อยคาร์บอนต่ำ
- การปฎิบัติตามมาตรฐานด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกฎหมายด้านแรงงานหรือหลักสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ประกาศนโยบายห่วงโซอุปทานที่ยั่งยืนและหลักจรรยาบรรณคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) เพื่อให้คู่ค้าใช้เป็นหลักปฎับัติ ตลอดจนเพื่อสื่อสารความคาดหวังของบริษัทฯ ไปยังคู่ค้าถึงความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน
การคัดกรองและคัดเลือกคู่ค้าตามแนวทาง ESG
บริษัทฯ ได้บูรณาการเกณฑ์ด้าน ESG เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการคัดกรอง การคัดเลือก และการบริหารจัดการคู่ค้า โดยได้ทำการปรับปรุงแบบประเมินคู่ค้าที่ประกอบด้วยเกณฑ์หลากหลายมิติ อาทิ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม คุณภาพการให้บริการ ความพร้อมของสถานที่ คุณสมบัติด้านเทคนิค การบริหารจัดการ ฯลฯ โดยนำไปใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ 1) การลงทะเบียนคู่ค้า ไปจนถึง 2) การลงนามสัญญา และ 3) การดำเนินธุรกิจร่วมกัน
ทั้งนี้ เกณฑ์ ESG ที่ได้ถูกผนวกเข้าไปในแบบประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นของคู่ค้า ที่ประกอบด้วย
- เกณฑ์ด้านสังคม เช่น สุขภาพและความปลอดภัย และผลกระทบต่อชุมชน ฯลฯ
- เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการของเสีย ฯลฯ
- เกณฑ์ด้านการกำกับดูแล เช่น จริยธรรมทางธุรกิจ เป็นต้น
แบบประเมินข้างต้นได้รับการออกแบบให้อยู่ในรูปแบบของแบบสอบถามซึ่งผู้รับเหมาสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG ของตนเอง โดยอ้างอิงจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา บริษัทฯ จะทำการส่งแบบประเมินข้างต้นให้กับคู่ค้า เพื่อประเมินประสิทธิภาพด้าน ESG ในเบื้องต้น และจะมีการให้คะแนนประเมินตามคำตอบที่มีหลักฐานสนับสนุน
ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้พัฒนามาตรฐานการประเมินคู่ค้าด้าน ESG เพื่อประเมินผลกระทบเชิงลบที่สำคัญที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงานอีกด้วย เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าของบริษัทฯ ตลอดจนติดตามและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
การดำเนินการข้างต้นเป็นไปเพื่อให้มั่นใจว่าการคัดเลือกคู่ค้าของบริษัทฯ ไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการสินค้าหรือบริการเพื่อการผลิตเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนอีกด้วย โดยมาตรฐานดังกล่าวได้ถูกนำไปดำเนินการครอบคลุมทั้งคู่ค้ารายปัจจุบันและรายใหม่ที่ประสงค์จะทำงานร่วมกับบริษัทฯ
แนวทางความร่วมมือและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนร่วมกับคู่ค้า
บริษัทฯ มีแนวทางส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคู่ค้า ผู้รับเหมา และพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมพลังงานที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของคู่ค้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เติบโตไปด้วยกัน ได้อย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานที่หลากหลาย ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในปี 2567 บริษัทฯ ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคู่ค้า/พันธมิตร/ผู้รับเหมา ผ่านการดำเนินงานในด้านต่างๆ เช่น
- การผลักดันให้คู่ค้าหลักประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ และจัดทำมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านการใช้น้ำประจำปี เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดแคลนน้ำ และรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้อุปโภคและบริโภคของทุกภาคส่วน
- การส่งเสริมความร่วมมือกับผู้รับเหมาในการทำงานด้านพัฒนาชุมชน (Contractor Cooperation in Community Engagement Work) โดยบริษัทฯ ได้ประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนร่วมกัน ตั้งแต่การวางแผน การจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรบุคลากร การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้การดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมผู้ได้รับประโยชน์มากขึ้น และลดความซ้ำซ้อนของการบริหารจัดการโครงการพัฒนาชุมชนในพื้นที่
- การร่วมกับพันธมิตรชั้นนำเพื่อส่งมอบโซลูชันที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย เช่น บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Alto Tech ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการจัดการพลังงานและระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการระบบจัดการพลังงาน (EMS) และร่วมมือกับ Singapore Power Group (SP Group) เพื่อให้บริการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (DCS) เป็นต้น
- การทำงานร่วมกับคู่ค้าในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน รวมถึงแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนคาร์บอน หรือซื้อขายพลังงานแบบครบวงจรด้วยระบบ AI เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่ลูกค้า และพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ สร้างความแข็งแกร่งในเทคโนโลยีพลังงาน และสร้างระบบนิเวศธุรกิจ (Business Ecosystem) ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีและแนวคิดจากบริษัทสตาร์ทอัป (Startup) รุ่นใหม่ ที่จะมาช่วยเติมเต็มการให้บริการด้านพลังงานสะอาดแบบครบวงจร ผ่านการสนับสนุนด้านเงินลงทุน และร่วมกันนำนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ให้เกิดแนวคิดในการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ หรือเพิ่มการเติบโตในธุรกิจ และร่วมกันส่งมอบโซลูชันที่ดีที่สุดและตอบโจทย์ธุรกิจของลูกค้าแต่ละราย