By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
บ้านปู ผนึกพันธมิตร เชื่อม “กิจการเพื่อสังคมท้องถิ่น” ชูไอเดีย “ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง” รุดปักหมุด “เชียงใหม่” ที่แรก!!

บ้านปู ผนึกพันธมิตร เชื่อม “กิจการเพื่อสังคมท้องถิ่น” ชูไอเดีย “ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง” รุดปักหมุด “เชียงใหม่” ที่แรก!!

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ จับมือ ChangeFusion ประเดิมจัดโรดโชว์โครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” (Banpu Champions for Change: BC4C) ในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ หนุนไอเดีย “ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง” ส่งเสริมให้มีกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ใหม่ ๆ ทั่วประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงของเศรษฐกิจประเทศ จัดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ต่อยอดไอเดียระหว่าง SE ในพื้นที่ กิจกรรมไฮไลท์ ได้แก่ เวทีทอล์กจาก SE รุ่นพี่ และเวิร์กชอปการเขียนแผนธุรกิจและการเยี่ยมชมกิจการเพื่อสังคม Buddy HomeCare หนึ่งใน Alumni ของโครงการฯ ทั้งนี้ กิจกรรมหลักจัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้ประกอบการ SE รุ่นใหม่ในภาคเหนือให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 50 กิจการ

นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บ้านปูจัดกิจกรรม BC4C โรดโชว์ในครั้งนี้ เพราะเราอยากไปค้นหาคนรุ่นใหม่ถึงพื้นที่ คนที่มีแพสชันอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนของตัวเองเพื่อชวนมาร่วมโครงการกับเรา ‘เชียงใหม่’ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพเชิงพื้นที่ เช่น มีตลาดที่ใหญ่ มีประเด็นทางสังคมที่ซับซ้อนหลากหลาย มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ มีกลุ่มงานฝีมือคุณภาพสูง ที่สำคัญคือมีคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียและพลังที่เข้มแข็ง เหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ดีที่จะช่วยให้ SE สามารถดำเนินกิจการให้เติบโต พร้อมกับช่วยลดปัญหาทางสังคม เช่น ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมอาชีพและการศึกษา งานฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน โดยหลังจากเชียงใหม่แล้ว เราจะไปพบกับ SE ที่จังหวัดนครราชสีมาและกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่อไปตามลำดับ สำหรับ BC4C ปีที่ 13 นี้ บ้านปูยังคงเดินหน้าผลักดันศักยภาพผู้ประกอบการ SE ไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ที่มุ่งเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง ภายใต้แนวคิด ‘Impactful Locals, National Boost: ชุมชนแกร่ง ไทยแกร่ง’

สำหรับโรดโชว์ในครั้งนี้ มีกิจกรรมไฮไลท์ที่น่าสนใจ อาทิ เวิร์กชอปการออกแบบ และเขียน Impact Business Statement ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SE มองเห็นภาพปัญหา ตัวชี้วัดผลกระทบทางสังคม และเป้าหมายในการดำเนินกิจการได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงช่วยให้นักลงทุนมองเห็นโอกาสและความคุ้มค่าจากการลงทุนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีเสวนาแชร์ประสบการณ์จาก SE Alumni นำโดย คุณบุตรพจน์ พลพิพัฒนาพงศ์ BC4C รุ่น 9 จาก Hmong Cyber (ม้งไซเบอร์) และคุณยุจเรศ สมนา BC4C รุ่นที่ 8 จาก Craft de Quarr (คราฟท์เดอคัวร์) รวมถึงติดตามความคืบหน้าของตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมอย่าง ‘Buddy HomeCare’ (บั๊ดดี้ โฮมแคร์) กิจการที่ให้โอกาสเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมเป็น ‘บั๊ดดี้สูงวัย’ ผ่านการอบรมในหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ กว่า420 ชม. สู่การช่วย ‘สร้างรายได้(เยาวชน) พร้อมคลายเศร้า(ผู้สูงวัย)’ รับสังคม Aging Society ในพื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งในปัจจุบันสามารถสร้างเครือข่าย Caregiver ได้แล้วกว่า 177 ราย ขณะที่ผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลสุขภาพเป็นจำนวน 4,048 ราย

อย่างไรก็ตาม โครงการฯ ยังใช้โอกาสในการไปเยือนพื้นที่ภาคเหนือในการพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับ SE Alumni ในเขตพื้นที่ภาคเหนือจำนวนกว่า 10 ราย ด้วยความเชื่อมั่นว่า การมีเครือข่าย SE ที่เข้มแข็งจะช่วยทำให้ SE ในพื้นที่มีที่ปรึกษาที่ดี มีการส่งเสริมเกื้อกูลกัน และมีโอกาสต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันในอนาคต

นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า “ตลอดระยะเวลาที่เราได้ร่วมทำโครงการ BC4C กับบ้านปู เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างแข็งขันของ SE ในท้องถิ่น อย่างในพื้นที่ภาคเหนือ ‘Hmong Cyber’ ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนชาวเขาและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยที่เยาวชนเหล่านี้สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการเรียนรู้และต่อยอดเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในขณะที่ ‘Craft de Quarr’ ก็ช่วยทำให้สินค้าที่มาจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ตลอดจนงานศิลปะพื้นเมืองได้รับการสืบทอดและเข้าถึงตลาดในวงกว้างมากขึ้น”

นางสาว อรปรียา สะโน เยาวชนชาวปกาเกอะญอ อายุ 18 ปี ผู้ก้าวข้ามข้อจำกัด “การขาดแคลนทุนทรัพย์” ศึกษาต่อคณะพยาบาลศาสตร์ ด้วยการมองหาโอกาสเก็บออมเงินจากการดูแลผู้สูงอายุ ผ่านกิจการเพื่อสังคม “บั๊ดดี้ โฮมแคร์” (Buddy HomeCare) ในฐานะ “พนักงานผู้ดูแล”  (Caregiver) ได้กล่าวว่า “ตนใฝ่ฝันอยากเป็น ‘พยาบาล’ มาโดตลอดและสามารถสอบติดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์ของครอบครัวจึงทำให้ต้องหยุดความฝันไว้ และมองหางานเพื่อใช้ชีวิตต่อไปให้ได้แทน โดยในช่วงเริ่มต้นได้เข้ามาทำงานดูแลสูงอายุในกรุงเทพฯ 1 เดือน ต่อมาทราบข่าวว่า Buddy HomeCare มีจัดอบรมหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น พร้อมกับมอบทุนศึกษาในหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ กับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงตัดสินใจมาขอสมัครเข้าร่วมโครงการ ที่ผ่านมาตนได้ทำหน้าที่เป็น Caregiver ให้บริการดูแลผู้สูงอายุถึงที่บ้านเป็นเวลากว่า 7 เดือนแล้ว ซึ่งครอบคลุมการดูแลตั้งแต่การดูแลพื้นฐาน เช่น การวัดไข้ วัดความดัน เช็ดและพลิกตัว รวมไปถึง การฟีดอาหารให้ผู้ป่วยทางสายยาง และทำแผลบริเวณหน้าท้อง ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ โดยปัจจุบันตนมีเงินส่งให้ที่บ้าน และสามารถเก็บสะสมได้ ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะนำเงินรายได้จากอาชีพนี้ไปสานฝันเพื่อเรียนต่อพยาบาลในอนาคต”

สำหรับผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม นักศึกษาและผู้มีไอเดียในการเริ่มต้นกิจการเพื่อสังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ BC4C ปีที่ 13 ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 7 เมษายน 2567 โดยตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ที่ https://bit.ly/3V56eSz (Incubation Program) และ https://bit.ly/3IvUKzH  (Acceleration Program) ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ www.facebook.com/banpuchampions หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 087-075-4815 และอีเมล [email protected]

###

เกี่ยวกับบ้านปู

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ดำเนิน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในประเทศไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

© 2025 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.