By clicking “Accept All Cookies”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts.
Cookies Settings
บริษัท อินโด ตัมบังรายา เมกา ทีบีเค เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียอย่างเป็นทางการแล้ว เสนอขายหุ้นจำนวน 225.985 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 14,000 รูเปียะห์

บริษัท อินโด ตัมบังรายา เมกา ทีบีเค เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียอย่างเป็นทางการแล้ว เสนอขายหุ้นจำนวน 225.985 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 14,000 รูเปียะห์

จาการ์ต้า (18 ธ.ค. 2550): บริษัท อินโด ตัมบังรายา เมกา ทีบีเค ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. บ้านปู ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ว่า “ITMG” ในวันนี้ นายสมยศ รุจิรวัฒน์ President Director ของบริษัท อินโด ตัมบังรายา เมกา ทีบีเค หรือ ITM พร้อมทั้งคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้บริหาร ตลอดจนผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียร่วมเป็นสักขีพยานในการนำหุ้นของบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในตลาดหลักทรัพย์จาการ์ต้า พร้อมร่วมสังเกตการณ์การซื้อ-ขายหลักทรัพย์ “ITMG” บนกระดานหุ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย ซึ่งในโอกาสนี้ นายสมยศ ได้กล่าวว่าหลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ ในการนำเสนอขายหุ้นให้แก่สาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) แล้ว รู้สึกมีความมั่นใจในการที่ ITM จะสามารถเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่และพลังงานของอินโดนีเซียได้อย่างแน่นอน

“กระบวนการทำ IPO ของ ITM ถือว่าประสบความสำเร็จตามความคาดหมายของคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในการทำ IPO ครั้งนี้ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการซื้อหุ้น ITM เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงของการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์และการกำหนดราคาเสนอขาย จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของการเสนอขายหุ้น” นายสมยศ กล่าว

ทางด้าน คณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ เชื่อว่าจากองค์ประกอบที่สำคัญของ ITM ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ และมาตรฐานการบริหารจัดการในระดับสากล เช่น นโยบายบรรษัทภิบาล (CG) นโยบายคุณภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม (QSE) และนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) จะส่งผลให้ บริษัทฯ มีรากฐานที่แข็งแกร่ง สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และจะนำมาซึ่งการเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้ในที่สุด

“ในโอกาสนี้ เราขอขอบขอบคุณนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่ให้ความสนใจและไว้วางใจในหุ้น ITM ซึ่งการเสนอขายหุ้นของบริษัทฯ ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกนี้ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นาย Sutoyo Sutedjo ประธานกรรมการบริษัทฯ กล่าว

ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นอย่างชัดเจน และทำให้กำไรจากการผลิตลดลง ในขณะเดียวกันได้ทำให้ราคาถ่านหินปรับตัวสูงขึ้น ปริมาณความต้องการใช้ถ่านหินอย่างต่อเนื่องในตลาดเอเชีย-แปซิฟิค ประกอบกับปัญหาการขนส่งถ่านหินของออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศส่งผลให้ราคาซื้อ-ขายถ่านหิน ณ. ปัจจุบัน (Spot Price) ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

สิ่งสำคัญของการเสนอขายหุ้น
การเสนอขายหุ้นของ ITM ครั้งนี้เป็นหุ้นใหม่ร้อยละ 100 ซึ่งประกอบด้วยนักลงทุนต่างชาติ (ร้อยละ 65) และนักลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ 35) โดยการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ของนักลงทุนสถาบันได้ปิดลงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 และการเสนอขายหุ้นให้แก่นักลงทุนรายย่อยได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 11-13 ธันวาคม พ.ศ. 2550

จากการเสนอขายหุ้นจำนวน 225,985,000 ในราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายที่ราคาหุ้นละ 14,000 รูเปียะห์ (54.45 บาท ต่อหุ้น ที่ อัตราแลกเปลี่ยน 1,000 รูเปียห์ = 3. 8893 บาท) นั้น ITM คาดว่าจะได้รับเงินจากการทำ IPO ครั้งนี้ จำนวน จำนวน 337.4 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะนำไปใช้ในการดำเนินการต่างๆ ดังนี้
– 65 – 70 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับใช้ในการพัฒนา ปรับปรุง และขยายท่าเรือบอนตัง
– 20 – 25 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับใช้ในการก่อสร้าง และดำเนินการโรงไฟฟ้าบอนตัง
– 20 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับใช้พัฒนาเหมืองถ่านหินอินโดมินโค ส่วนตะวันออก
– 40-50 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับใช้ในการพัฒนาแหล่งถ่านหินบารินโต และ
– ส่วนที่เหลือ จะนำไปใช้สำหรับและการจ่ายคืนหนี้ และการขยายธุรกิจซึ่งรวมถึงการเข้าถือครองแหล่งถ่านหินและโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย หากมีโอกาสและโครงการที่เหมาะสม

ข้อมูลของบริษัท ITM
เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายถ่านหินรายใหญ่อันดับ 3 ในอินโดนีเซีย มีบริษัทย่อย 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท Indominco Mandiri บริษัท Trubaindo Coal Mining บริษัท Bharinto Ekatama บริษัท Jorong Barutama Greston และบริษัท Kitadin ในปี 2549 ที่ผ่านมา ITM สามารถผลิตถ่านหินได้จำนวน 19.6 ล้านตัน โดยมีฐานการผลิตถ่านหินกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ในเกาะกาลิมันตันตะวันออก และ เกาะกาลิมันตันใต้ รวมทั้งมีท่าเรือตลอดจนอุปกรณ์และระบบในการขนถ่ายถ่านหิน

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 ITM มีกำไรสุทธิ 24.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่นับรวมกำไรสุทธิของเหมืองโจ-ร่ง) และกำไรสุทธิในรอบ 6 เดือนของปีนี้ (สิ้นสุด ณ. วันที่ 30 มิถุนายน 2550) อยู่ที่ 22.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ไม่นับรวมกำไรสุทธิของเหมืองโจ-ร่ง)

© 2024 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) | Banpu Public Company Limited. All rights reserved.